ทำไม? ...เราต้องขับเคลื่อนวัฒนธรรม : ประเทศไทยเป็นประเทศที่เก่าแก่และมีวัฒนธรรมประจำชาติที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและพัฒนาหล่อหลอมขึ้นในสังคม

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 14 พฤษภาคม 62 / อ่าน : 1,025


ทำไม? ...เราต้องขับเคลื่อนวัฒนธรรม 

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เก่าแก่และมีวัฒนธรรมประจำชาติที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและพัฒนาหล่อหลอมขึ้นในสังคมไทย จนมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองไม่ว่าจะเป็นภาษา วรรณคดี ศิลปวัตถุ ดนตรี อาหารและการแต่งกาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนชาติใดในโลกนี้...

          คำว่า “วัฒนธรรม” โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ “วิถีการดำเนินชีวิต” ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นในวิชาหน้าที่พลเมืองจะแปลว่าสิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงามและสืบต่อกันมา

          คำว่า “งอกเงย” ถ้ามันดีมันก็จะ “งอกงาม” ถ้ามันไม่ดีมันก็จะ “งอกง่อย” 

          คำว่า “วัฒนะ”เป็นคำกลางๆ แปลว่า ความเจริญ ความงอกงาม

          คำว่า “ธรรม” แปลว่า ทรงไว้ ธรรมในที่นี้ ธ.ธง ส่วน ร.เรือนั้นคำว่า ธร หรือ ธะ-ระ นั้นแปลว่าทรงไว้ ทรงไว้ซึ่งสภาพความเป็นเช่นนั้น นี่คือรากศัพท์ของคำว่าธรรม

           ฉะนั้น “วัฒนธรรม” ก็หมายถึง การทรงไว้ซึ่งการงอกเงยขึ้น “วัฒนธรรม” ในความหมายจำกัดความไว้คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง

           เมื่อเป็นเช่นนี้อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกว่า “วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต” วัฒนธรรมเป็นคำกลางๆ คำกลางๆ ภาษาพระเขาเรียกว่า “อัพยากตธรรม” หมายความว่ามันยังไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่เลว เช่น คนฉลาด คนขยัน ก็เป็นคำกลางๆ ไม่ได้บอกว่าดีหรือเลว ความฉลาด ความขยัน ความซื่อสัตย์ เหมือนกันหมามันภักดีต่อเจ้าของ แต่เจ้าของเป็นโจรมันก็ภักดีต่อโจร เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์ก็เหมือนกันเป็นคำกลางๆ แต่ถ้านำไปพัฒนาในทางที่ดีเขาเรียกว่า “อารยธรรม” แต่ถ้าพัฒนาไปในทางที่ไม่ดีก็เป็น “หายนะ” หรือ “หายนธรรม” ฉะนั้นเมื่อมี 2 แง่ เวลาที่เรานำมาใช้ขอให้เข้าใจและนำไปใช้ให้เหมาะสมและถูกต้องตรงกัน

           “ส่วนในเรื่องสถานะของวัฒนธรรมนั้นมันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น กำหนดขึ้นเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างเป็นปกติสุข เมื่อพูดในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมเป็นผลผลิตของ 3 สิ่งนี้ เปรียบเทียบเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีส่วนสำคัญของต้นไม้อยู่ 3 ส่วน คือราก ลำต้น แล้วก็เรือนยอด เรือนยอดก็คือกิ่งก้านสาขา ใบรวมทั้งดอกและผลด้วย ซึ่งต้นไม้ทุกต้นจะมีลักษณะ 3 ส่วนเท่ากัน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เศรษฐกิจก็คือราก สังคมคือลำต้น การเมืองคือเรือนยอด ซึ่งจะแยกกันไม่ได้เลย เราจะมองปัญหาเฉพาะส่วนไม่ได้” อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอก

วัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสุขทางกาย อันได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง

วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิดปัญญาและมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผนของขนบธรรมเนียมประเพณี

 อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกต่อว่า สำหรับแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ไม่ว่าในทางยอมรับหรือต่อต้าน ย่อมขึ้นอยู่กับรากฐานของวัฒนธรรมในสังคมนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมอาจเกิดมาจากสิ่งแวดล้อม การค้นพบ (และอิทธิพลภายในอื่นๆ) และการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นก็ได้

แล้วทำไม? ...เราต้องขับเคลื่อนวัฒนธรรม นั่นเพราะ

 

"วัฒนธรรมคือวิถีแห่งชีวิต                     ของคนคิดคนทำคนสร้างสรรค์

เพื่อประโยชน์เป็นอยู่รู้แบ่งปัน                ไปตามขั้นครรลองของชีวิต

ศิลปะนั้นเป็นความเจนจัด                    จากปฏิบัติการงานการประดิษฐ์

ศิลปวัฒนธรรมจึงนำคิด                       ให้รู้ทิศรู้ทางรู้ย่างเท้า

พื้นฐานบ้านเราคือชาวบ้าน                   ทำงานไร่นามาก่อนเก่า

เป็นปู่เป็นย่าตายายเรา                       ปลูกเหย้าแปลงย่านเป็นบ้านเมือง

เป็นเมืองเรืองรุ่งเป็นกรุงไกร                  ลูกไทยหลานไทยได้ฟูเฟื่อง

น้ำใจไมตรีมีนองเนือง                         จากเบื้องบรรพกาลถึงวันนี้

ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ                             เอกราชเอกลักษณ์เอกศักดิ์ศรี

เป็นคันฉ่องส่องความงามและความดี         เป็นโคมฉายช่วยชี้วิถีชน ฯ"

 

นี่แหละวัฒนธรรมความเป็นไทย “ของเรา”



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]