คำนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ นักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 8 กุมภาพันธ์ 62 / อ่าน : 1,337


ทำไมต้อง... นักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ : สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ 


เพื่อสร้างความเข้าใจเรามาเจาะลึกถึงคำนิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการทั้งหมดดังนี้ 

        • นักสื่อสารสร้างสรรค์บันดาลใจ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพและทักษะในการใช้สื่อและการสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างแรงบันดาลใจ ในการพัฒนา เปลี่ยนแปลง และหรือแก้ไขปัญหาของตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบ และนำไปสู่การมีภูมิรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันสุขภาวะ มีหลักคิดในเชิงวิเคราะห์ประเด็นเนื้อหาและสถานการณ์สุขภาวะที่สร้างสรรค์

        • กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ หมายถึง กระบวนการที่ใช้สื่อให้เป็นเครื่องมือ ช่องทาง และเป้าหมายของการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่นำไปสู่การดำรงชีวิตที่ดี มีสุขภาวะของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นการใช้สื่อแบบผสมผสานกับสถานการณ์และบริบทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุชุมชน วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดีย สื่อหนังสั้น สื่อศิลปวัฒนธรรมซึ่งใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภาษาถิ่น วิถีชาติพันธุ์ สื่อที่เป็นบุคคล เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญา ศิลปินพื้นบ้าน ผู้นำชุมชน สื่อกิจกรรมที่สร้างกระบวนการการเรียนรู้ เช่น ค่ายพัฒนาศักยภาพ เวทีและกิจกรรมการละเล่นที่ผสมผสานกับกิจกรรมประเพณีท้องถิ่น และยังรวมถึง สื่อกิจกรรมในระดับต่างๆ ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียนและชุมชน ที่เข้าถึงและสร้างผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายและสาธารณะ

        • พื้นที่สร้างสรรค์ หมายถึง การทำให้เกิดพื้นที่ในเชิงกายภาพหรือพื้นที่ในลักษณะอื่นๆ เช่น พื้นที่สื่อ พื้นที่ทางสังคม ฯลฯ ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ในการใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่สร้างชุมชนแห่งความสุข สร้างการเรียนรู้ การแบ่งปัน สร้างสัมพันธภาพ เสริมพลังบวก และสันติภาพ

        • สุขภาวะ  หมายถึง การดำรงชีพของบุคคลอย่างมีความสุขทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ที่เชื่อมโยงและสะท้อนถึงความเป็นองค์รวมที่เกื้อหนุนกันทั้ง 4 มิติ มิใช่เพียงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมถึงการมีชีวิตที่มีร่างกายแข็งแรง จิตแข็งแรง มีความสุขอยู่ในสังคม โดยที่จุดเน้นประเด็นทางกาย คือ ลดปัญหาหรือปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ ลดการบริโภคอาหารที่มีความหวานมันเค็มสูง เพิ่มปัจจัยเสริม เช่น มีกิจกรรมทางกาย มีการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ผักผลไม้อย่างต่อเนื่อง จุดเน้นประเด็นทางจิต คือ จิตใจที่เป็นสุข ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีสติ มีสมาธิ กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ จุดเน้นประเด็นทางสังคม คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดี ในครอบครัว ในชุมชน ในที่ทำงาน ในสังคม เข้าใจยอมรับความเห็นที่แตกต่าง การทำงานร่วมกันเป็นทีม จุดเน้นประเด็นทางปัญญา คือ จิตที่พัฒนาให้มั่นคง ด้วยคุณธรรม เมตตากรุณา ปัญญาที่รู้เข้าใจเท่าทันโลกและชีวิตตามความเป็นจริง  มีความรับผิดชอบ ไม่เห็นแก่ตัว มีจิตสาธารณะ จิตอาสาต่อผู้อื่น ชุมชนและสังคม

         และนั่นเพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของสื่อร่วมกัน ทุกคนมีหน้าที่สร้างสรรค์สังคมเพื่อนำไปสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่มีคุณภาพทั้งภายในและภายนอก มีความใส่ใจต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป....  

        มาทำให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกับเราสิ... สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม 





ข้อมูลจาก จุลสารศิลป์สร้างสุขฉบับที่ 40 ปี 2561





ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]