125 ปี คนพันธุ์เสือเมืองพยัคฆภูมิพิสัย (ชื่อน่ากลัว แต่ตัวน่ารัก) ค้นหาความเป็นพื้นถิ่น รากเหง้า อัตลักษณ์ตัวตนของตนเองก่อนเลือนหาย

หมวดหมู่ อีสาน , โดย : admin , 31 กรกฎาคม 61 / อ่าน : 2,866


125 ปี คนพันธุ์เสือเมืองพยัคฆภูมิพิสัย (ชื่อน่ากลัว แต่ตัวน่ารัก)



การค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนของตนเองถือเป็นเรื่องสำคัญของคนยุคนี้ เพราะยิ่งโลกก้าวไปไกลแค่ไหน ความเป็นพื้นถิ่น รากเหง้า ก็ยิ่งจะเลือนหาย

ยิ่งทุกคนย่อโลกทั้งใบมาไว้ในมือถือด้วยแล้ว การจะค้นหาความเป็นมาของตนเอง ก็ยิ่งไกลออกไป

โชคดีที่ สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ได้นำเอาแนวคิดในการค้นหาอัตลักษณ์พื้นถิ่นของแต่ละพื้นที่ มาสู่กระบวนการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชนในพื้นที่ 4 จังหวัดกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์คือ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์ได้เรียนรู้

โดยดึงเอา 6 โรงเรียนในสังกัดและอีก 1 กศน.มาเรียนรู้ สืบค้น ค้นหาประวัติชุมชน ของดีชุมชน สถานที่สำคัญของชุมชน ก่อนจะมาจัดทำเป็นแผนที่ชุมชนเพื่อให้เข้าใจง่ายและยิ่งค้น ยิ่งลึก ยิ่งค้น ยิ่งเจอ ทำให้เด็กเยาวชนภาคภูมิใจที่เขามีสิ่งดี ๆ ในชุมชนตนเอง เป็นสิ่งที่เขาภูมิใจ และ เป็นสิ่งที่เขาควรจะบอกต่อ มากกว่าการไปแอบชื่นชมคนอื่น

กระบวนการเรียนรู้ เราใช้กระบวนการ ให้ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ได้บอกเล่าอดีต สิ่งที่เป็นมา ของดีที่มีอยู่ และชูให้เห็นคุณค่าของมัน พร้อม ๆ กับการให้ครู และ เยาวชนได้ลงไปสอบถาม ซอกหา จดบันทึก นำเสนอ และถ่ายทำเป็นคลิปวีดีโอสั้น ๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจและให้คนดูได้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น โดยเสมือนเป็นนักข่าวน้อยที่ลงพื้นที่หาข้อมูลและเอามาตัดต่อนำเสนอให้คนได้ชมกัน

5 โรงเรียนที่ผ่านมา ถือว่ากระบวนการนี้ประสบความสำเร็จ และ พื้นที่ที่ 6 ที่โรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร ถือว่า น่าปลื้มใจและน่าชื่นชม เพราะโรงเรียนนี้เตรียมพร้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งการค้นหาของดีล่วงหน้า ประสานชุมชนที่จะต้องให้ข้อมูล พร้อมปราชญ์ชาวบ้านที่มีอยู่หลากหลาย ทำให้เด็ก ๆ ได้ข้อมูลที่เป็นจริง เห็นของดีของบ้านตนเองและเกิดความเข้าใจ ภาคภูมิใจ พร้อมนำเสนอให้โลกได้รู้

125 ปีในการก่อตั้งเมืองพยัคฆภูมิพิสัยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และการมีเจ้าเมืองของตนเอง ทำให้พวกเขาเห็นความยิ่งใหญ่ของบ้านเกิด แต่มากไปกว่านั้นเมืองนี้มีคนอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยทวาราวดี ที่มีมากว่าพันปี แถมมีหลักฐานอ้างอิง ทั้งใบเสมา ถ้วยชามที่ค้นพบ

รวมไปถึงการตั้งเมืองที่ยังมีลูกหลานเจ้าเมืองหลงเหลืออยู่และมีโฮงเมืองเก่าที่ยังปรากฏหลักฐาน รวมถึงของดีของชุมชนทั้งพระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปทองคำ แม้จะมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ ที่สร้างขึ้นมาหวังดึงคนเข้ามาในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความน่าศรัทธาเลื่อมใสของสิ่งที่มีอยู่จางหายไป

นอกไปจากนั้นยังมีภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษที่ได้สืบทอดรุ่นต่อรุ่นอย่างการย้อมและทอผ้าไหมจากการเอาไม้มงคลมาให้สี ทำให้ปลอดภัยทั้งคนสวมใส่และคนทำ แถมยังเพิ่มมูลค่าเส้นไหมที่ทำเอง เลี้ยงเอง ทอเองของชาวบ้านโคกล่ามให้กลายเป็นสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาวได้ไม่ยาก

นี่คืออีกหนึ่งก้าวในการกลับหวนหาอดีตของคนรุ่นปัจจุบันที่ไม่ได้ทิ้งความเป็นพื้นถิ่นเพื่อไปเสาะหาของที่อยู่นอกพื้นที่ อย่างน้อยพวกเขาก็พยายามตามหาที่มา เพื่อเข้าใจอดีต ลึกซึ้งในปัจจุบัน มุ่งมั่นสู่อนาคตอย่างเข้าถึง เข้าใจ และพร้อมพัฒนาอย่างแท้จริง.

ต้องขอบคุณเด็กนักเรียนที่สนใจ ตั้งใจ ขอบคุณครูและผู้บริหารที่สนใจและเปิดโอกาสให้เด็กและขอบคุณสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ที่ไม่ก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ค้นหาอดีตที่มาของตนเอง และเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.ที่เราได้หนุนช่วยเพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้สัมฤทธิ์ผล

 

 

 

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]