โขง ชี มูล บ่สูญจากโลกนี้ : โดย อมรศักดิ์ ศรีสุขกลาง ผลงานประเด็นสิ่งแวดล้อมในชุมชน

หมวดหมู่ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม , โดย : admin , 23 กรกฎาคม 61 / อ่าน : 1,783


 

เรื่องราวที่สะท้อนความรู้สึกของพ่อใหญ่ปาน

ผู้ซึ่งพบเห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมาหลากหลายด้าน

 จากอมรศักดิ์ ศรีสุขกลาง เรื่อง "โขง ชี มูล บ่สูญจากโลกนี้"



 


ในฟ้าบ่มีน้ำ
ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย 
ก็รีบซาบบ่รอซึม...
(นายผี.อีศาน,2494)

พ่อใหญ่ปานมีบ้านอยู่ในชุมชนลาวลุ่มน้ำโขง แกอพยพมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่จนไม่ทราบเค้าเหง้าตระกูลดั้งเดิมว่ามีตำแหน่งแห่งที่ก่อกำเนิดเผ่าพันธุ์อยู่ตรงไหน เมื่อยังเด็กน้อยก็รู้ว่าปู่พาขี่คอเดินออกจากป่าดงพงไพรหนึ่งไปรื้อถางเขาอีกลูกหนึ่ง มาถึงพ่อก็แบกจอบแบกพร้าเดินตามหลังพ่อ(ของพ่อ)จากเขาอีกลูกหนึ่งไปสู่ป่าอีกดงหนึ่ง จนกระทั่งตัวแกเองก็เคยพาลูกจากป่าดอนมาหาที่ลุ่มแห่งใหม่ แต่ยุคเฒ่าปานนั้นคงนับว่าสิ้นสุดการเดินทางอพยพแน่นอนแล้ว ด้วยว่าบ้านเมืองมีผู้คนมาก กฎบ้านหมายเมืองก็เคร่งครัดรัดกุม ยิ่งมีการให้เอกสารครอบครองแผ่นดินก็จบสิ้นการเดินทาง เมื่อคนเรายึดว่าสิ่งใดเป็นของตัวแน่แท้แล้ว ก็ย่อมไม่อาจพรากจาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผืนแผ่นดิน ที่มักได้ยินได้ฟังผ่านหูอยู่เสมอว่าคนหลายคนก่อสงครามเพื่อแย่งชิงกันเข้าครอบครองมัน

พ่อใหญ่ปานได้รับคำสั่งสอนมาแต่รุ่นปู่แล้วว่า ไม่ว่าจะอพยพโยกย้ายถ่ายเทไปทางใด ให้มองหมายเอาแม่น้ำเป็นตัวตั้ง ถ้าใกล้น้ำมากนักมักน้ำท่วมทำการเพาะปลูกก็จะเสียหาย ครั้นห่างไกลแม่น้ำเกินไปก็มักแห้งแล้งเพาะปลูกข้าวกล้าไม่ได้กินอิ่มท้อง ต้องเลือกที่ทางที่พอดีพอสม หมายสำคัญให้อิงแม่น้ำโขงหรือลำน้ำมูลไว้เป็นหลัก ปู่ย่าตายายสอนสั่งเอาไว้ แม่น้ำสามสายไม่สิ้น คนอีสานบ่มีวันอดตาย

แม่น้ำสามสายเรียกชื่อต่างกันว่า โขง ชี มูล แกยังเคยได้ฟังหมอลำนกน้อย อุไรพร ร้องลำไว้ในเพลง ลำนำพิณแคน ว่า

“แมงกินูนยังบินหากินใบไม้ แม่น้ำสามสายยังไหลมารวมกัน น้ำโขง ชี มูล บ่สูญจากโลกนี้ ยังเป็นสายนทีหล่อเลี้ยงลูกหลาน ยังปลาบ้อนตามสายน้ำลำธาร แผ่นอีสานบ่สิ้นตำนานหมอลำ”

แกยังนึกชมคนแต่งว่าช่างแต่งได้เหมาะเจาะเหลือเกิน เมื่อถ่ายทอดผ่านเสียงกังวานหวานใสของนกน้อยแล้วก็ยิ่งเป็นเพลงไพเราะเสนาะโสตที่สุดแล้ว

ชั่วชีวิตพ่อใหญ่ปานนั้นได้พบเห็นมาหมดแล้ว ทุกด้านที่ธรรมชาติให้ผลแก่มนุษย์ ทั้งคุณและโทษ ทั้งหนาว แล้ง น้ำท่วม ความอดอยากแสนเข็ญ ทั้งไข้ป่าและสารพัดสัตว์ นับแต่ป่ายังไม่แปน และทุ่งกุลายังไม่เขียว จนถึงยามป่าใหญ่กลายเป็นสวนยาง และทุ่งกุลาปลูกข้าวโด่งดังไปทั่งเมือง แกได้รู้ได้เห็น สมัยน้ำท่วมข้าวเสียหายไม่ได้ผลผลิต ก็แกนั่นเองที่นำขบวนชาวบ้านกู่ตาเพ็งจับเอาปลาในลำน้ำโขง และตามที่น้ำท่วมพามาค้างแอ่งในทุ่งนา เอามาทำปลาร้าแล้วแบกคอนไหไปหาแลกข้าวแถบแถวทุ่งกุลามาไว้กิน นับแต่เดินเท้าแลกข้าวจนถึงสมัยนี้ที่มีรถกระบะขนปลาร้าใส่ท้ายรถไปหาขายตามหมูบ้านที่ไกลจากแม่น้ำสะดวกสบายกว่าแต่ก่อน นับแต่จับปลาในลำโขง ยันเอาปลามาเลี้ยงในกระชังริมแม่น้ำโขง

บรรดาความเปลี่ยนแปลงผ่านสายตาพ่อใหญ่ปานไปอย่างรวดเร็ว

“เสียงอิหยังกุกๆ กักๆ ทางหลังเฮียนบักหล่า”

“พ่อใหญ่ปานเราเฮ็ดหยังบุ๊!”

“ไปเบิ่งลาวแน ลางเทียเป็นลมเป็นแล้ง” เสียงแม่ใหญ่หาบอกให้ลูกชายไปดูพ่อใหญ่ปานคู่ชีวิต ที่อยู่กันมากว่าห้าสิบปี

บุญก่อเดินไปหลังบ้านตามคำสั่งแม่ เห็นผู้เป็นพ่อกำลังค้นหาของอยู่ใต้ถุนยุ้งฉาง “เจ้าหาหยังพ่อ?”

“หาแห กูว่าสิไปหว่านแห เผื่อสิได้มาเฮ็ดปลาแดก” พ่อใหญ่ป่านหมายถึงปลาร้าในภาษาถิ่น

“เฒ่าแล้วกะสิหาแต่แนวเฮ็ด คือบ่อยู่ซือๆ อยากกินกะให้บักเจมส์ไปซื้อมาให่”บุญก่อพูดถึงลูกชายชื่อเจมส์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานพ่อใหญ่ปาน

“กะให้กูได้ขยับโตแน ปลาแดกตลาดมีแต่ปลาเลี้ยง มันบ่แซบคือปลาเฮาหาดอก”

“มันสิไปดึกน้ำตายซือๆ น้าพ่อใหญ่” บุญก่อกลัวพ่อจะไปจมน้ำตาย

“อย่ามาหาเว่าอัปมงคลเด้อบักนี่ สิไปไสกะไป กูสิหาเฮ็ดเองดอก” พ่อใหญ่ปานดุลูกชายแล้วก็หันไปคุ้ยแหในถังสีที่ใต้ถุนฉางอยู่กุกกัก

บุญก่อเดินกลับออกมาแล้วตะโกนรายงานแม่ จากนั้นก็เบี่ยงไปทางสุ่มไก่ เอาไอ้ทอง ไก่ชนตัวเก่งออกมาเช็ดน้ำ

พ่อใหญ่ปานแบกแหออกไปจากบ้านมุ่งสู่ริมแม่น้ำโขง ระยะทางจากบ้านสู่แม่น้ำโขงไกลพอสมควร แกค่อยๆ เดินไปพลางหยุดพักเหนื่อยพลางไปตามทาง

เมื่อแกเดินมาอีกหนึ่งเหนื่อยใหญ่ๆ ก็ถึงยางนาต้นหนึ่งที่เป็นต้นไม้ประจำหมู่บ้าน มีอายุยาวนาน ยืนผ่านกาลเวลาและการไถทิ้งมาได้ แกเห็นยางนาต้นนี้มาตั้งอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ๆ เมื่อครั้งชาวบ้านแห่กันตัดและไถทิ้งต้นไม้ตามทุ่งตามคันแทนา แกก็ยังนึกเป็นห่วงมัน ตัวแกเองคงห้ามเจ้าของที่ตัดมันทิ้งไม่ได้ และถ้าหากว่ามันจะหายไป แกก็คงใจหายไม่น้อย โชคยังดีที่มันอยู่ปลายนาหน่อย และต้นใหญ่เป็นร่มเงา เจ้าของที่เลยเอาไว้เป็นร่มหลบพักดูรถไถรถเกี่ยวทำงาน

พ่อใหญ่ปานเดินเลี่ยงต้นยางนาเข้าไปหลบในแดดร่มฉำฉาใหญ่ตรงโคกปลายนา วางกระสอบปุ๋ยที่ใส่แหมาลงบนดินแข็งๆ แก ล้วงเอาขวดน้ำออกจากย่ามมาดื่มอึกใหญ่ แล้วทรุดนั่งลงไปข้างๆ กระสอบใส่แห

“ดินก็แน่นกว่าเก่า ป่าก็แปนเอิดเติด” พ่อใหญ่ปานบ่นกับตัวเอง ภาพเบื้องหน้าเป็นท้องทุ่งนาแสนไกล หลายปีต่อเนื่องกันมานี้ ปีทั้งปีนาไม่ว่างจากต้นข้าว แม่ธรณีไม่เคยได้พักผ่อนจากการให้ธาตุอาหารแก่ต้นข้าว แม่โพสพไม่เคยได้พักจากการผลิตน้ำนมกลั่นเป็นเมล็ดข้าว รถไถ รถเกี่ยวสลับกันย่ำเหยียบดินทั้งปีไม่เคยหยุดไม่เคยหย่อน ป่าโคกที่คอยเป็นแหล่งอาหารก็ถูกรุกรานไปเรื่อยๆ เพราะกับข้าวทั้งหลายหาซื้อได้ในตลาด ขอแต่มีเงินมีคำก็สามารถหาได้โดยง่ายดาย ยิ่งมองไปแกยิงหวนนึกถึงอดีต ภาพตั้งแต่ครั้งอพยพมาปักหลักทวนฉายรายเรียงในทรงจำของชายชรา แกคิดจนเหนื่อย และเพลีย จึงค่อยเอนตัวลงนอน มองไปบนกิ่งก้านสาขาของฉำฉาที่แตกออกไปทั่วสารทิศ บางกิ่งมีนกน้อยเกาะอยู่ สักพักนกตัวนั้นก็กระโดดเล่นไปตามกิ่งฉำฉา ส่งเสียงร้องจิ๊บจิ๊บ แกพลันนึกถึงหมอลำสุดที่รักของแก นกน้อย อุไรพร เสียงหวานปานนกน้อย เพลงแจ้งเกิดหมอลำสาวสุดรักของแกคือเพลง “นกจ๋า” เสียงหมอลำนกน้อยสมัยนั้นหวานใสหาใครจะเปรียบปานได้ แม้ทุกวันนี้จะแก่ไปบ้างแล้วก็ตาม เสียงยังไพเราะไม่มีตก พอคิดมาถึงตรงนี้เนื้อเพลงที่ติดหูก็ผุดขึ้นมาให้แกฮำเล่น “น้ำโขงชีมูลบ่สูญจากโลกนี้ ยังเป็นสายนทีหล่อเลี้ยงลูกหลาน”

แม่น้ำโขงสืบตำนานสายธารมานานยาว บ้านเมืองและผืนป่าสองฟากฝั่งชุ่มเย็นเป็นสุข พ่อใหญ่ปานเเละผู้คนอีกมากมายมหาศาลในแดนล้านช้าง ล้านนา สยาม จีน และเขมรได้เชื่อถือศรัทธา มหานทีแห่งนี้บ่มีวันแห้งเหือดหาย เพราะเป็นอกธารอันพระยาศรีสุทโธนาคราชได้ทอดกายขุดไว้ให้มนุษย์ทั้งหลายใช้ดื่มกินไม่มีหมดสิ้น เป็นทรัพยากรวิเศษศักดิ์สิทธิ์ ภาพที่ประจักษ์เบื้องหน้าพ่อใหญ่ปานเพลานี้คือมหานทีที่กว้างยาวสุดจะประมาณ เห็นแล้วชุ่มชื่นรื่นเริงหัวใจของชายชรานิ่งนัก ริมฝั่งแม่น้ำโขงมีปลาบ้อนบุบบับตื่นตา พ่อใหญ่ปานหัวใจเต็มตื้น มื้อนี้คราวนี้จะได้ปลาตามธรรมชาติรสชาติอร่อยเอร็ดด้วยมันได้เพียรว่ายน้ำจนปราศจากไขมัน เนื้อไม่ปนเปื้อนอาหารสารเคมีที่เขาเร่งเลี้ยงจนเติบโต แกค่อยก้าวเดินไปหาแม่น้ำใจนั้นนึกอยากวิ่งเข้าไปให้ถึงริมฝั่งแล้วรีบหว่านแหออกไปกลางน้ำที่ปลาบ้อนบุบบับล่อตาใจ แต่กายกลับไม่ไปตามใจปรารถนา แกรูสึกว่าทำไมหนอมันช่างยืดยาดเหลือเกิน แกฝืนจะวิ่งแต่กลับกลายเป็นตะเกียกตะกายไปช้างหน้า ชั่วขณะที่ทะยานทั้งคลานทั่งพุ่งไปนั้น เฒ่าชราพลันตื่นขึ้นมาจากความฝัน

พ่อใหญ่ปานรู้ตัวว่ายังนอนใต้ร่มไม้ฉำฉาอยู่ก็รู้สึกเสียดาย พลันฮึดฮัดขัดใจเหลือประมาณ ด้วยว่าใจแกนั้นปรารถนาจะไปชมความอุดมสมบูรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของมหานทีสีขุ่นอันคุ้นเคยเหลือเกินแล้ว แกรีบลุกขึ้นพลางคว้าเอาย่ามสะพายขึ้นบ่า แล้วยกกระสอบปุ๋ยใส่แหขึ้นแบกเดินออกจากร่มไม้ มุ่งสู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง

พอแต่เปิดผ้ากั้น*…

เฒ่าชราตาปานผู้หอบเอาความหวังและความชุ่มชื่นใจปานรดด้วยน้ำโขงนั้นก็พลันละห้อยใจเหี่ยวแห้ง ทรุดลงคุกเข่ามองพื้นดินทรายเบื้องหน้าด้วยความตกใจและพิศวงงงงวยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ช่างเป็นวันกาลีอัปรีย์เหลือหลาย นี่เป็นความฝันหรือความจริงกันแน่เล่า แม่น้ำโขงที่เราเชื่อเสมอมาว่าไม่มีวันแห้งเหือดกลับมลายหายเหลือดินทรายและโขดเขินระดะดาษปานภาพวาดที่ไม่เคยพบเคยเห็น

“มันเกิดอีหยังขึ้นหนอ พ่อปู่ศรีสุทโธนาคราช แม่ย่าศรีปทุมมาเอ้ย มันคือมาเป็นจังซี่” ตาเฒ่าชราคร่ำครวญในอกอยู่แต่ผู้เดียว “ถึงแม่โขงยังเหือดแห้งได้ ชีวิตเฮาทั้งหลายสิเหลืออยู่ไปโดนนานปานได๋น้อ”

พ่อเฒ่าเดินกลับบ้านอย่างละห้อยละเหี่ย

“อิพ่อๆ เจ้าเบิ่งนี่ๆ” ไอ้เจมส์วิ่งชูสมาร์ทโฟนหรามาหาบุญก่อที่กำลังให้น้ำไก่

“อิหยังบักเจมส์?”

“เบิ่งๆ ข่าวเฟสบุ๊คเข้าว่า ประเทศจีนปิดเขื่อน แม่น้ำโขงแห้งเหลือแต่ดินทราย พี้มีรูปๆ พี้ๆ เจ้าเบิ่งๆ”

“ปาด!ขนาดน้ำโขงตาปีตาชาติบ่เคยแห้ง เจ๊กนี่มันแน่นอนอิหลี”

“ซั่นแหลว เบิ่งบาดนี่คั่นเขาบ่ปล่อยน้ำมา ไก่เจ้าตายเบิดแน่นอน”

“มึงกะเว่าโพดโพเนาะบักเจมส์!”

บุญก่อดุลูกชายพลางโบกมือไล่ให้ลูกออกไปห่างๆ แล้วตนเองยังคงเช็ดน้ำให้ไก่ชนไปดุจดังว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น.

หมายเหตุ *พอแต่เปิดผ้ากั้น... เป็นท่อนเปิดของเพลงหมอลำ หมายถึง เมื่อเปิดม่านออกมา มักใช้ขึ้นต้นกลอนลำ

 

 

 

#feedDD #MASS

 

ติดตามเรื่องราวดีๆ อัพเดท สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่แฟนเพจ สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ที่นี่




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]