ห้องแถว บ้านไม้ ชายคาเก่า วิถีคน | วิถีชีวิตดี๊ดีที่ท่าพระ

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 26 เมษายน 61 / อ่าน : 1,880


เรื่องโดย สุมาลี สุวรรณกร 

          ช่วงเวลาในอดีต เป็นช่วงเวลาที่ใครต่อใครต่างก็กล่าวกันว่าเป็นสิ่งงดงามเสมอ แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นก็ไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้ ทว่าการได้รู้เห็นผ่านร่องรอยการบันทึก ภาพถ่าย หรือการบอกเล่าจากความทรงจำของบุคคลผู้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในวันคืนเก่าๆ  ย่อมทำให้วันวานเหล่านั้นกลับมาแจ่มชัดได้อีกครั้ง ดังเช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนท่าพระ (ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น) ที่ถูกเก็บบันทึกในความทรงจำและวิถีชีวิตของชาวท่าพระ สืบต่อ ถ่ายทอดให้แก่กันจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาเยือนชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ แต่วิถีคน วิถีชีวิตวิถีดั้งเดิม กลับยิ่งทวีมีค่ามากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

          บ้านไม้สองชั้น ห้องแถวเก่า ที่ทอดยาวไปตามถนนเจริญพาณิชย์และบ้านเก่าชั้นเดียวที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กหรือสถานที่สำคัญของตำบลท่าพระ เพราะถนนพาณิชย์เจริญกลายเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในขอนแก่นที่ยังคงรักษารูปแบบการสร้างบ้านเรือนในสมัยก่อนไว้ได้ ท่ามกลางบ้านเรือนหลายหลัง หรือหลายตำบลที่ปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไปตามยุคสมัย

            นายพิเชษฐ์ อนุตรอังกูร ผู้ที่อาศัยอยู่ที่ท่าพระมาตั้งแต่กำเนิดกระทั่งเติบโตและสร้างครอบครัว แม้จะมีทายาทก็ขอลงหลักปักฐาน ณ ที่แห่งนี้ด้วยความรักในบ้านเกิดได้เล่าถึงการสร้างบ้านไม้ในชุมชนให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมสุขว่า บ้านไม้สองชั้นที่เห็นในปัจจุบันนี้มีอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว บางหลังที่ยังไม่สูญหายไปกับกองเพลิงจากเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ.2520 ก็มีอายุถึง 100 ปี ยังคงมีให้เห็นใกล้ๆ สถานีรถไฟ ซึ่งรูปแบบในการสร้างนั้นจะไม่มีแบบแผนตายตัวว่าจะต้องสร้างแบบใด เน้นสร้างตามความนิยมของยุคสมัย จำนวนเงินและความชอบใจ แต่ที่รูปแบบมีความคล้ายคลึงกันเพราะในอดีตนิยมสร้างอาคารเรือนไม้ ฝาเฟี้ยม ภายหลังก็สร้าง การต่อเติม การปรับปรุงให้เข้ากับประโยชน์ใช้สอยและความแข็งแรง คือมีการปรับปรุงพื้นบ้านโดยใช้ปูน เปลี่ยนฝาเฟี้ยมเป็นประตูเหล็กยืดบ้าง แต่ลักษณะของหลังคา ระเบียง และฝาเรือน ยังคงมีกลิ่นอายของบ้านไม้ ตึกแถวเก่าๆ ในอดีต ลักษณะดังกล่าวนี้สันนิษฐานได้ว่าเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากพ่อค้าชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสาน ซึ่งนอกจากท่าพระแล้วสถาปัตยกรรมเช่นนี้พบได้ในพื้นที่ต่างๆ ของภาคอีสาน (วัชราภรณ์ เครือพันธ์, 2555)

          นายพิเชษฐ์ อนุตรอังกูร ได้บอกอีกว่ารู้สึกภูมิใจ และไม่คิดจะย้ายไปที่ไหนอีก ตั้งใจจะอนุรักษ์บ้านที่ท่าพระนี้ไว้ให้กับลูกหลานต่อไป

          เจ้าของบ้านไม้เก่า ในชุมชนแห่งนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเจ้าของเดิม ยังไม่เปลี่ยนผ่านไปยังเจ้าของใหม่ แม้ว่าทายาทของหลายครอบครัวจะแยกย้ายกันไปในเมืองใหญ่ แต่เมื่อมีโครงการที่จะฟื้นฟูชุมชนแห่งนี้ ทายาทของชาวท่าพระก็ดูพร้อมใจจะกลับมา อนุรักษ์ พลิกฟื้นความเก่าแก่ของห้องแถวเหล่านี้ให้กลายเป็นจุดเด่น ท่ามกลางการเติบโตของสังคม คนเก่าคนแก่ของชาวท่าพระเองก็พร้อมสนับสนุนและชื่นชมไปกับแนวคิดนี้ สายตาที่มองเห็นสิ่งต่างๆ มากว่าชั่วอายุคนก็ยังคงคอยมองสายน้ำของการเปลี่ยนแปลงที่จะเชี่ยวไหลในตำบลท่าพระอีกครั้ง และแน่นอนว่าย่อมเป็นสายน้ำที่จะทำให้ชาวท่าพระได้ชุ่มเย็น

            การสร้างบ้านเรือนของชาวท่าพระจึงสามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนรวมถึงสภาวการณ์ในอดีต ซึ่งมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เน้นที่ประโยชน์ใช้สอย ปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านเรือนไปตามความจำเป็น นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นอิทธิพล ความนิยมด้านสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยก่อน และยังทำให้เห็นหัวใจของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่จากคามตั้งใจที่จะอนุรักษ์ห้องแถว บ้านไม้ในชุมชนท่าพระแห่งนี้...

           ขอบคุณหนังสือ “ท่าพระ 100 ปีในความทรงจำ” ที่สนับสนุนเนื้อหาที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นที่ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เรื่องราวดีๆ ยังมีอีกหลากหลายเรื่องให้ติดตาม “เก็บสุขมาเล่า” ฉบับถัดๆ ไปจะนำมาฝากกันอีกต้องติดตามว่าจะเป็นเรื่องไหน อย่างไร รับรองคุ้มค่าการรอคอยแน่นอน ....

           

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]