สร้างสำนึกพลเมือง รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ วายร้ายโซเชียล ปลุกสังคมให้มีสติ รู้คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม เช็คก่อนแชร์

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 26 เมษายน 61 / อ่าน : 1,959


สร้างสำนึกพลเมือง รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ วายร้ายโซเชียล 

ปลุกสังคมให้มีสติ รู้คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม เช็คก่อนแชร์

 

ปัจจุบันโลกก้าวไกลไปมาก  

รู้หรือไม่ว่าในโลกใบนี้มีคนใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 4,000 ล้านคนทั่วโลก

และเชื่อหรือไม่?.....

“คนไทย” ใช้เวลาเข้าอินเทอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก

กรุงเทพมหานครยังคงครองแชมป์เมืองที่มีผู้ใช้ Facebook มากสุดในโลก

ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ....

         เพราะจากการสำรวจของ “Hootsuite” ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions ได้รวบรวมสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ระบุว่า การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะได้แรงหนุนมาจาก “สมาร์ทโฟน” ที่ปัจจุบันมีรุ่นราคาไม่แพงออกมาวางจำหน่ายมากมายหลากรุ่น หลายแบรนด์ ทำให้ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และสะดวกขึ้น

         เมื่อทุกอย่างพุ่งไกลไปแรงอย่างไร้ขีดจำกัดแบบที่ใครก็ได้สามารถเป็นผู้ส่งสาร ฉะนั้นการรับสารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้รับต้องรู้เท่าทัน นี่จึงทำให้โครงการปิ๊งส์ สสส. ห่วงเด็กไทยเป็นเหยื่อสื่อออนไลน์ หลังพบคนไทยติดอินเตอร์เน็ตอันดับ 1 ของโลก ยูทูป-เฟซบุ๊ก-ไลน์ ฮิตติดชาร์ตนิยมใช้สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จับมือคนทำสื่อแถวหน้าชวนเด็กเยาวชนทำงานประกวดคลิปสั้น-MV รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หวังปลุกสังคมให้มีสติ รู้จักคิด วิเคราะห์และตั้งคำถาม เช็คก่อนแชร์ ร่วมสร้างสำนึกพลเมือง และนักสื่อสารสร้างสรรค์ที่รับผิดชอบต่อสังคม


            โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตพบว่าคนไทยติดอินเตอร์เน็ตอันดับ 1 ของโลก ซึ่งกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 17-36 ปี ใช้งานในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือเฉลี่ย 7.12 ชั่วโมง/วัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมง/วันในช่วงวันหยุด ขณะที่กลุ่มคนอายุ 37-52 ปี และกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 17 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตในวันทำงานและวันเรียนหนังสือเฉลี่ยเท่ากันที่ 5.48 ชั่วโมง/วัน แต่ในวันหยุดกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 17 ปีกลับมีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 7.12 ชั่วโมง/วัน สวนทางกับกลุ่มคนอายุ 37-52 ปีที่ใช้ลดลงที่ 5.18 ชั่วโมง/วัน ขณะที่กลุ่มคนอายุ 53-71 ปี ใช้ 4.54 ชั่วโมง/วัน ในวันทำงาน และ 4.12 ชั่วโมง/วันในวันหยุด โดยกิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่งอีเมล (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%) โดยโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทูป (97.1%), เฟซบุ๊ก (96.6%), ไลน์ (95.8%), อินสตาร์แกรม (56%), พันทิพย์ (54.7%), ทวิตเตอร์ (27.6%) และวอชแอป (12.1%)

          เมื่อเป็นเช่นนี้นายพิริยะ ทองสอน ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน จึงได้บอกว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 รวดเร็วมาก สื่อดิจิทัลสามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายและรวดเร็วโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่เราควบคุมเนื้อหาได้ยาก แม้แต่ผู้ใหญ่เองยังตามไม่ทัน อย่างการไลฟ์สดที่ยากต่อการควบคุมเนื้อหา เมื่อเผยแพร่ไปแล้วสถานการณ์สดที่เกิดขึ้นหากเด็กและเยาวชนได้รับสารโดยตรงก็อาจจะส่งผลเสียหลายๆ อย่างตามมา ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรระวังต้องสอนให้เยาวชนรู้เท่าทันสื่อ สามารถตีความ วิเคราะห์ แยกแยะเนื้อหาสาระของสื่อ โต้ตอบกับสื่อนั้นๆ ได้อย่างมีสติและรู้ตัว ไม่หลงเชื่ออะไรที่แฝงมากับสื่อนั้นอย่างง่ายๆ และแทนที่จะปล่อยให้เด็กและเยาวชนเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว ต้องพยายามเปลี่ยนให้เขามาเป็นฝ่ายรุกบ้าง โดยการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงสื่อที่หลากหลายและมีคุณภาพสามารถใช้สื่อให้ถูกวิธีและเกิดประโยชน์ สอนให้เด็กและเยาวชนรู้จักใช้คีย์เวิร์ดในการค้นหาสิ่งอยากเจอที่เป็นประโยชน์ต่อเขา แม้กระทั่งเรื่องของการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นหรือการรับข่าวสารต่างๆ ในโลกออนไลน์ต้องใช้อย่างมีสติด้วยเช่นกัน

          “คนผลิตสื่อก็เช่นกันต้องมีจรรยาบรรณในการทำสื่อให้มากขึ้น ต้องผลิตสื่อดีๆ ออกไปให้เด็กและเยาวชนเพื่อเขาจะได้รับแต่สิ่งดีๆ ยิ่งเป็นสื่อมวลชน ยิ่งสำคัญเวลานำเสนอข่าว การโปรยหัวข้อข่าวสำคัญมาก บางครั้งหัวข้อข่าวจูงใจอยากให้คลิกเข้าไปดูรายละเอียด แต่พอเข้าไปอ่านหัวข้อข่าวกับรายละเอียดไม่ตรงกันก็มี ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คนสร้างสรรค์งานต้องใส่ใจ” ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน บอก

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเพจ Toolmorrow ด้วยแนวคิด “ขจัดวงจรหลงผิด” ด้วยการสร้าง “เครื่องมือสำหรับอนาคต (Tool for Tomorrow)” ผ่านรูปแบบสื่อสร้างสรรค์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสื่อออนไลน์ที่เน้นเนื้อหาในการทำลายความเชื่อผิดๆ ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอ, รูปภาพ และบทความ จนเป็นที่มาของการเป็นหนึ่งในผู้นำบนโลกออนไลน์ไทยในปัจจุบันนี้ บอกว่า ตอนนี้มีคนทำสื่อเพิ่มมากขึ้น หลายๆ คนลุกขึ้นมาทำสื่อเองซึ่งมีทั้งแบบเชิงลึกและเชิงตื้น แต่สื่อที่เป็นเชิงลึกและมีประสิทธิภาพจริงๆ นั้นยังมีอยู่น้อยมาก โดยในฐานะของคนที่ทำสื่อเพื่อให้สิ่งที่เผยแพร่ไปผู้รับได้ประโยชน์มากที่สุด คนทำสื่อจึงต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก คือ 1.ข้อมูลที่ใช้นั้นต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง 2.ในการทำงานต้องไม่ตัดสินใจแทนผู้รับว่าเขาต้องการอะไร 3.ห้ามให้ข้อมูลมั่วๆ ต้องเอาสิ่งที่อ้างอิงได้มาเป็นความถูกต้อง เพราะหากมีคนติดตามสิ่งที่เผยแพร่ไปเยอะแล้วบางอย่างในสังคมจะผิดเพี้ยนไปได้

         ด้านนายประพัฒน์ คูศิริวานิชกร (Director & creative บริษัท Duck ba doo จำกัด) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมิวสิควีดีโอให้กับศิลปินมากมาย บอกว่า การสร้างสรรค์สื่อหรือทำงานให้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีโจทย์จากพฤติกรรมผู้บริโภคในวันนี้ก่อน จากนั้นต้องคำนึงถึงความน่าสนใจของงานว่า 1.มีความแปลกและแตกต่างไหม 2.งานนั้นต้องสัมผัสและตอบความรู้สึกของใจผู้บริโภค คนดูหรือคนฟังได้ ที่สำคัญต้องไม่ชี้นำให้ผู้บริโภคเชื่อหรือคิดต่อไปทางไหน แบบไหน ปล่อยให้เขาคิดและรู้สึกกับสิ่งที่เรานำเสนอด้วยตัวของเขาเอง ยิ่งเป็นเด็กและเยาวชนด้วยแล้วเรายิ่งต้องใส่ใจในงานที่สื่อสารออกไปมากขึ้น เพราะการสื่อสารยุคนี้ทำให้เด็กได้รับข่าวสารรวดเร็วมากขึ้น หากคนทำสื่อไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เด็กจะยิ่งตกเป็นเหยื่อออนไลน์มากขึ้นเป็นเท่าตัว การสอนให้เขาการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่มาในรูปแบบต่างๆ ทุกๆ ครั้งที่เขาหยิบโทรศัพท์ แทบเล็ต หรือเปิดอินเทอร์เน็ตจึงสำคัญควบคู่กันไป

         ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของโครงการการประกวดคลิปสั้น และมิวสิควีดีโอ รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกเพิ่มเติมว่า โครงการปิ๊งส์ โดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการผลิตสื่อ อายุระหว่าง 15 – 25 ปี ร่วมส่งไอเดียและแนวความคิดในการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อการรณรงค์รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ในประเภทคลิปสั้น ความยาวไม่เกิน 3 นาที และมิวสิควีดีโอความยาวไม่เกิน 4 นาที ในประเด็น “รู้เท่าทันสื่อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ” และ “รู้เท่าทันสื่อการโฆษณาและสื่อสารการตลาด” ขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเป็นต้นแบบในการเฝ้าระวังสื่อด้วยการสร้างสรรค์และผลิตสื่อเพื่อกระตุ้นสังคมให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ปลุกสังคมให้มีสติ รู้จักคิด วิเคราะห์และตั้งคำถาม เช็คก่อนแชร์ ร่วมสร้างสำนึกพลเมือง และนักสื่อสารสร้างสรรค์ที่รับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ผลงานที่ดีที่สุดจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครองด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ www.PINGs.in.th หรือ www.artculture4health.com  เปิดรับสมัครตั้งแต่นี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2561 เท่านั้น


         ทั้งนี้เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยวรรธน นักร้อง-นักแต่งเพลง และผู้สร้างสรรค์เพลงเอ๊ะ!...อะไรยังไง เพลงโจทย์ในการประกวดประเภทมิวสิควีดีโอ บอกว่า เพลงเอ๊ะ!...อะไรยังไง เป็นเพลงที่ฟังแล้วติดหู และร้องตามง่าย เนื้อหาของเพลงเหมาะกับสังคมยุคนี้มาก เพราะจากสถิติที่ออกมาว่าคนไทยติดอินเตอร์เน็ตอันดับ 1 ของโลก ไม่ว่าใครจะได้รับข่าวสารอะไรมาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งสติ คิดกับสิ่งที่เจอบนโลกออนไลน์เสียก่อน เช็คก่อนแชร์ ชัวร์หรือมั่ว ถูกต้องและเป็นธรรม หรือไม่ก่อนที่จะเชื่อหรือกระจายอะไรออกไป วันนี้ สสส. เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ในสังคมออนไลน์แล้ว อย่ารอช้ามาสร้างเสริมศักยภาพให้ตัวเองและสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสังคมร่วมกัน โอกาสรอรับทุกๆ คนอยู่ ทุกคนทำได้เพราะเราเชื่อว่าความคิดเล็กๆ ของเด็กและเยาวชนในวันนี้สามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้... 

          มา เอ๊ะ อุ๊ย โอ๊ะโอ๋ อี๋ อ๋อ

         ...เอ๊ะก่อน อย่าเพิ่งเชื่อสื่อ เราต้องสงสัยและตั้งคำถาม สงสัย และคิดวิเคราะห์หาคำตอบให้กับสิ่งที่พบเจอบนโลกออนไลน์ก่อนเสมออย่าเพิ่งเชื่อทันทีที่พบ

         ...อุ๊ย เมื่ออุ๊ยแล้วอย่าเพิ่งชอบ เราต้องรู้เท่าทันว่าสื่อมักทำให้เราชอบ และผู้ผลิตมักจงใจให้เรารู้สึกสนุกและคล้อยตามสิ่งที่แฝงมาพร้อมๆ กับสื่อที่เราได้รับมาเสมอ อุ๊ยก่อนแล้วคิด ไม่ชอบทันทีรู้ไหม...

         ...โอ๊ะโอ๋ อย่าเพิ่งโอ๊ะโอ๋เพราะรู้สึกว่าถูกดึงดูดใจ เพราะสื่อมักใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดใจให้จดจำ เช่น ใช้การ์ตูนสนุกๆ มานำเสนอให้ดูว่าน่ารัก แต่ในทางกลับกันอาจแฝงมาด้วยกลยุทธ์ที่แยบคายเพื่อทำให้เราหลง

          ...อี๋ อี๋เพราะต้องรู้ว่าเจตนาของสื่อคือแอบแฝงผลประโยชน์บางอย่างไว้เสมอ ไม่ว่าจะทำให้อยากดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ตามตัวแสดง หรืออยากซื้อสินค้าของเขาบ่อยๆ ฉะนั้นเมื่อได้รับอะไรมาจากสื่อออนไลน์เราจำเป็นต้องคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนตัดสินใจ หรือเชื่อ...

          ...อ๋อ อ๋อจะเกิดขึ้นได้ถ้าเรารู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลที่ต่างกัน และการรู้เท่าทันสื่อจะเกิดขึ้น ทีนี้สิ่งที่ล่อลวงและแอบแฝงมาในสื่อก็จะทำอะไรเราไม่ได้...

         มา เอ๊ะ อุ๊ย โอ๊ะโอ๋ อี๋ อ๋อ ตั้งแต่วันนี้แล้วเราจะรู้เท่าทันสื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อให้กับสื่อที่เข้ามาอย่างหลากหลายในโลกออนไลน์ เอ๊ะ อุ๊ย โอ๊ะโอ๋ อี๋ อ๋อ ช่วยเราได้...





ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]