คม ชัด ลึก : 'หุ่นจากฟาง' สร้างลานศิลป์

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 23 เมษายน 61 / อ่าน : 2,669


'หุ่นจากฟาง' สร้างลานศิลป์

          'จากเศษฟางเส้นน้อยๆ มาเรียงร้อยปลูกปั้นจนเกิดเป็นหุ่นยักษ์อันทรงคุณค่า" จะมีสักกี่คนที่ให้ความสำคัญและมองเห็นคุณค่าที่สามารถให้ประโยชน์และกอบโกยรายได้ที่ได้มากกว่าการทำเกษตรกรรม...ที่ คันแทนา (คันนา) เธียเตอร์ หรือ "โรงละครโฮม ทองศรี อุปถัมภ์" บ้านหนอง โนใต้ ต.นาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นสถานที่จัดตั้งงาน "เทศกาลหุ่นฟางยักษ์และหมอลำหุ่น 2018" โดยมี "ครูเซียง" ปรีชา การุณผู้ฝึกสอนการแสดงหมอลำหุ่นกระติบข้าวคณะเด็กเทวดา เป็นผู้ริเริ่มจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

          ครูเซียง เล่าถึงที่มาของหุ่นฟางว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากหุ่นกระติบข้าวที่มีอยู่ โดยครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ร่วมทำแผนที่ชุมชนกับเด็กๆ จึงได้พบตายายคู่หนึ่งนั่งสานตะกร้าและเหลือบไปเห็นกระติบข้าวเหนียวที่วางซ้อนกันอยู่ ใบเล็กซ้อนอยู่บนใบใหญ่ รู้สึกว่ามีรูปร่างคล้ายกับตัวคน จึงลองประดิษฐ์เป็นหุ่นไม้ไผ่จากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหุ่นในปัจจุบันก็ว่าได้

          "อีกครั้งหนึ่งขณะที่กำลังซ้อมละครหุ่นอยู่ก็เหลือบไปเห็นหุ่นไล่กาอยู่กลางทุ่งนา หุ่นไล่กาที่เกิดจากการ นำฟางมามัดเป็นรูปคนและจับสวมเสื้อ จึงลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าหากไม่ใช่คนมันจะสามารถสร้างเป็นตัวอะไรได้อีก และจะทำให้มันยิ่งใหญ่ได้สักเพียงใด จึงเกิดแนวคิดที่จะเปิดเวทีศิลปะให้ชาวบ้าน เยาวชนและประชาชน ได้มาแสดงฝีมือประกวดแข่งขันการทำหุ่นฟางยักษ์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ปฏิมา เหล่าชัย นายกสมาคม ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม ที่อนุเคราะห์และจัดสรรงบประมาณ จุดประสงค์หลักของการจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างจุดท่องเที่ยว แห่งใหม่และสร้างรายได้มาสู่ชุมชน ที่สำคัญยังเป็นการประชาสัมพันธ์หมอลำหุ่นกระติบข้าวคณะเด็กเทวดาอีกด้วย" หัวแรงสำคัญของการจัดงานกล่าว

          บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ซึ่ง แม่สมศรี พาดีจันทร์ ผู้เป็นเจ้าของ ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการใช้เป็นพื้นที่จัดงานเทศกาลหุ่นฟางยักษ์และหมอลำหุ่น 2018 ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่าที่ดินผืนนี้เดิมทีเอาไว้ใช้ในการปลูกมันสำปะหลัง แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้ใช้งาน ผนวกกับที่ครูเซียงได้มาติดต่อขอยืมพื้นที่เพื่อใช้ในการจัดงาน

เทศกาล ตัวเองเห็นชอบและตกลงให้ยืมโดย ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนที่สำคัญถนนเส้นนี้เป็นทางไปยังพระบรมธาตุนาดูน อันเป็นพุทธมณฑลอีสานสถานที่สำคัญและยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดมหาสารคามอีกด้วย

          ภายในบริเวณที่จัดงาน หุ่นฟางยักษ์รูปสัตว์ต่างๆ อาทิ พญานาค นกฮูก ปลาโลมา ปลาหมึก คิงคอง ปู กระบือ อูฐ วานร ยักษ์ ม้าบิน วัวกระทิง สิงโต แมมมอส กบเคโระ ปักษา แต่ที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือ แมงคาม แมงมุม พระยาคุรท และ ไก่ชน กระจายตัวอยู่ตามลานแสดง "หุ่นหนุมาน" โดยมี "เอ็ม" สมคิด ปทุมทองผู้คิดและออกแบบโครงสร้างของหุ่นหนุมานตัวนี้ขึ้นมา

          "เอ็ม" สมคิด เล่าให้ฟังว่า หุ่นตัวนี้เป็นตัวแทนของชาวบ้านหนอง โนใต้ช่วยกันสรรค์สร้างมันขึ้นมา เริ่มต้นก็มีเพียงครอบครัวของตัวเองที่เริ่ม ทำกันก่อนสามคนพ่อแม่ลูก จากนั้นก็มีชาวบ้านยื่นมือเข้า มาช่วย จุดเด่นของหุ่นหนุมานตัวนี้ก็คือ รูปแบบการทำหุ่น ที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ เน้นที่ส่วนหัวโดยให้หนุมานนอน อ้าปากเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าไปนั่งถ่ายรูปภายในช่องปากของหนุมานได้และที่มือของหนุมานก็ทำเป็นกำปั้น หลวมๆ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในมือหนุมานได้อีกด้วย

          เมื่อมีหุ่นหนุมานแล้วก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มี "หุ่นยักษ์ทศกัณฐ์" ผลงานของ "นิค" กิตติ ศิริตื้นลีและกลุ่มเพื่อน ซึ่งเจ้าตัวพูดถึงที่มาหุ่นยักษ์ตัวนี้ว่า มาจากคำว่า "หุ่นฟางยักษ์" และเมื่อมีคำว่า ยักษ์ ก็ต้อง

มีตัวยักษ์ โดยหุ่นทศกัณฐ์ค่อยๆ เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องนำยอดชฎาไปปักลงบนหัวของยักษ์กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เพราะตัวชุดข้างบนนั้นเกิดหักและพังลงมาเนื่องด้วยน้ำหนักและความสูงของชฎาที่มากเกินไป เป็นเหตุให้การส่งชิ้นงานล่าช้ากว่ากำหนด จนสมาชิกในกลุ่มมีอาการถอดใจ แต่เมื่อเพื่อนๆ ในทีมให้กำลังใจกัน จึงมีแรงฮึด กระทั่งหุ่นทศกัณฐ์ตัวนี้ได้ออกมาปรากฏสู่สายตาประชาชนอย่างสมบูรณ์

          ความงดงามตระการตาและน่าตื่นเต้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีผลงานหุ่นฟางยักษ์อีกหนึ่งทีมที่เป็นไฮไลท์ของงาน นั่นคือ "หุ่นฟาง รูปสิงโตเจ้าป่า" ของทีมเกียบบ่ทันมู่ (เกือบไม่ทันเพื่อน) จากอาจารย์และนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งใช้ทีมกว่า 20 คนและแบ่งงานกันทำทั้งหมด 6 ตัว เหตุผลที่เลือกทำสิงโตก็มาจากการพิจารณาลักษณะของวัสดุชิ้นหลักคือ "ฟาง" เพราะมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ ถ้านำมาใช้ทำเป็นสัตว์ที่มีขนจะทำให้ดูพลิ้วสวย และอีกหนึ่งเหตุผลก็เพราะอยากจะนำความสง่าของ "ราชสีห์" มาเป็นจุดเด่นในการเลือกทำหุ่นสิงโต

          ก่อนที่ดวงตะวันจะลับขอบฟ้า ลุงสมศักดิ์แสงนาโก ชายชราในพื้นที่ กำลังง่วนอยู่กับการกวาดเศษฟางให้อยู่เป็นที่เป็นทาง เอ่ยปากด้วยสำเนียงภาษาท้องถิ่นว่า "มันเฮ็ดให้คนมองแล้วกะคิดได้ว่า จากกองฟางฮ่างๆ ที่เอาไปขายราคาบ่กี่บาท เอามา เฮ็ดเป็นรูปตุ๊กตา รูปสัตว์ เฮาต้องยอมรับแนวความ คิดของเพิ่นกับความสามารถของผู้เฮ็ดผู้สร้างเขา อีหลี อยากให้เก็บหุ่นนี้ไว้โดยสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด และให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมเข้ามาค้าขายเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนกันต่อไป"

          ...น้ำเสียงที่แน่วแน่จากผู้ชายทำงานหาเช้ากินค่ำที่อยากให้มีการส่งเสริมและสร้างรายได้สู่ชุมชน เสียงเล็กๆ ที่ต้องการเพียงแค่พื้นที่ในการนำรายได้มาสู่ครอบครัว เสียงเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีใครได้ยิน หรือไม่...???

 

 

           คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2561

          เรื่อง : ศูนย์ข่าวเนชั่นภาคอีสาน

          ภาพ : ศูนย์ข่าวเนชั่นภาคอีสาน/ทิพย์สุดา แก้วศรีราวงษ์

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]