นิทรรศการและประกาศผลและมอบรางวัล โครงการจิตอาสาพลังแผ่นดิน ทำดีทำได้ทุกวัน เริ่มต้นวันนี้

17 เมษายน 61 / อ่าน : 2,198

ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนผู้ชนะโครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ "จิตอาสาพลังแผ่นดิน : ทำดี ทำได้ ทุกวัน เริ่มต้นวันนี้" ทุกๆ คน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา - โครงการปิ๊งส์ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายจิตอาสาพลังแผ่นดิน ธนาคารจิตอาสา ได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) องค์กรภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย และองค์กรภาคีต่าง ๆ จัดนิทรรศการแสดงผลงานและพิธีการประกาศผลมอบรางวัล โครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ หัวข้อ “จิตอาสาพลังแผ่นดิน : ทำดี ทำได้ ทุกวัน เริ่มต้นวันนี้” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนนำผลงานทั้งหมดไปเผยแพร่ และขยายผลไปสู่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ พร้อมกับจะขยายผลเพื่อสร้างค่านิยมคนไทยในการทำความดีให้เกิดเป็นรูปธรรมร่วมกับนโยบายของรัฐบาลเรื่อง “ไทยแลนด์ 4.0” ต่อไป


ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานกรรมการโครงการ D7Days ความดีตามพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประธานเปิดงาน กล่าวว่า จิตอาสาพลังแผ่นดิน : ทำดี ทำได้ ทุกวัน เริ่มต้นวันนี้ มีที่มาจากความต้องการที่จะร่วมกันสานต่อตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่๙) ในการดำเนินชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น และในเรื่องของการทำความดีดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 20 ตุลาคม 2520 ว่า "...การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเองผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่ต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วยเมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้วถึงแม้จะไม่มีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตามผลดีที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน..." และเพื่อการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และความมุ่งมั่นที่จะเดินตามรอยพระยุคลบาทที่มุ่งเน้นในเรื่องของการทำความดีรวมทั้งส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวและสังคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติผ่านสื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

 



ซึ่งนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การประกวดสื่อสร้างสรรค์ หัวข้อ “จิตอาสาพลังแผ่นดิน : ทำดี ทำได้ ทุกวัน เริ่มต้นวันนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปีพุทธศักราช 2561 เพื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของการทำความดีว่าเป็นเรื่องง่ายและทำได้ทันที สามารถทำให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อการทำงานอาสาสร้างการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม และมุ่งหวังสร้างแรงบันดาลใจในการส่งต่อการทำความดีอย่างไม่สิ้นสุด การสร้างสื่อสร้างสรรค์ หัวข้อ “จิตอาสาพลังแผ่นดิน : ทำดี ทำได้ ทุกวัน เริ่มต้นวันนี้” ใน 4 ประเภท อาทิ หนังสั้น (Short Film), แอนิเมชั่น หรือ โมชั่นกราฟิก (Short Animation และ Motion Graphic), ชุดภาพถ่าย (Photography Series) และโปสเตอร์ (Poster) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้เขาได้แสดงศักยภาพและมุมมองความดีออกมาสู่สังคม

ซึ่ง ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมโครงการธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า “จิตอาสา” เป็นเรื่องของสภาวะจิตใจ เป็นความมุ่งมั่น เป็นคุณภาพภายในที่แสดงออกให้เราเห็นถึงลักษณะพฤติกรรมของภายนอก เด็กและเยาวชนทุกคนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีจิตใจที่ดีงามอยู่ภายในซึ่งพร้อมจะเติบโต เมื่อเขามีความเชื่อมั่น มีความศรัทธา มีศักยภาพในตัว เมื่อเขามีโอกาสทำสิ่งที่เขาสนใจ แล้วได้ประโยชน์ทั้งกับตัวเองและต่อคนอื่น เขาจะจดจำได้ว่าตัวเขามีศักยภาพมากแค่ไหน โครงการ“จิตอาสาพลังแผ่นดิน” เชื่อมโยงให้ทุกคนเห็นว่าหัวใจที่ดีงาม ใจที่อยากทำงานอาสา เชื่อมโยงกันด้วยพลังสามัคคีที่จะสานต่อกันเป็นพลังของการเชื่อมโยงกัน พลังของการร่วมไม้ร่วมมือกันทั้งแผ่นดินได้




“การทำงานจิตอาสานั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่รูปแบบเดียว แต่การทำความดีนั้นสามารถทำได้หลากหลาย อาทิ 1.ลงแรง งานจิตอาสา : สัมผัสประสบการณ์ตรงในการทำความดีผ่านงานอาสา ที่สามารถเลือกงานได้ตรงกับความสนใจ ทักษะ และเวลาว่าง 2.จองวันทำดี : ให้องค์กร บุคคลทั่วไป ได้แสดงวันสำคัญ 1 วันลงในปฏิทิน 365 วันทำดี พร้อมระบุชื่อกิจกรรม เป็นกิจกรรมทำความดี และทำให้เกิดการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ 3.ปันของ แบ่งปันทรัพยากร : เป็นช่องทางที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรประกาศขอรับบริจาคสิ่งของโดยผู้บริจาคจะได้ความมั่นใจว่าให้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา และตรงความต้องการ ซึ่งจะส่งเสริมทำให้โอกาสของการทำความดีมีเพิ่มมากขึ้น และสามารถทำได้ทำได้ทุกวัน” ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ กล่าว

นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเปิดรับสมัครมีเยาวชนสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม แต่มีเยาวชนผ่านเข้ารอบเพื่อผลิตผลงานจริงจำนวน 31 ทีม แบ่งเป็นหนังสั้น 9 ทีม, แอนนิเมชั่น หรือ โมชั่นกราฟฟิค 6 ทีม, ชุดภาพถ่าย 6 ทีม และโปสเตอร์ 10 ทีม แบ่งเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 3 โรงเรียน ระดับอุดมศึกษาจำนวน 13 สถาบัน รวม 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งทุกทีมทุกประเภททางโครงการได้จัดให้มีพี่เลี้ยงมืออาชีพที่เป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์ฝีมือดี อยู่ในวงการสื่อแถวหน้าของประเทศมาให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เยาวชน จะมีการมอบถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่ผลงานดีเด่นที่เป็นสุดยอดของผลงานทั้ง 4 ประเภทนี้ ก่อนที่จะนำผลงานทั้งหมดนี้ไปเผยแพร่และขยายผลไปสู่สังคมทุกๆ รูปแบบทั้งสถานบันการศึกษาต่างๆ พร้อมกับขยายผลเพื่อสร้างค่านิยมคนไทยในการทำความดีให้เกิดเป็นรูปธรรมร่วมกับนโยบายของรัฐบาลเรื่อง “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการช่วยกันลงแรง จองวัน และปันของร่วมกับธนาคารจิตอาสาที่เป็นธนาคารความดีให้มากขึ้น ทั้งนี้โครงการได้ถือเอาฤกษ์งามยามดีของวันนี้มาชวนทุกองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทุกๆ คนมาประกาศเจตนารณ์ร่วมกันว่าจะเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม ความดี สานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการทำความดีแก่สังคม และแผ่นดินไทยให้ขยายวงกว้างด้วยการทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญา ส่งต่อแรงบันดาลใจเพื่อเป็นหนึ่งในพลังที่ยิ่งใหญ่สร้างสังคมไทยให้ยั่งยืนตลอดไป สำหรับผลงานที่เกิดขึ้นในโครงการสามารถชมแรงบันดาลใจที่เด็กๆ และเยาวชนได้ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ออกมาได้ที่ www.artculture4health.com




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]