ศิลปวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ และแนวคิด Thailand 4.0 กรอบขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ทิศทางเป็นอย่างไร

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 20 มีนาคม 61 / อ่าน : 1,767


 เป็นอีกครั้งที่เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป
          คสป.จัดเวทีพูดคุยถึงการขับเคลื่อนงานด้านศิลปวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ผ่านงานเสวนา "ศิลปวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ 4.0" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตื่นตัวให้คนไทยเห็นคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรม ช่วยกันรักษารากเหง้าของวัฒนธรรมไทย  เพราะทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ เกิดความไม่สมดุลของวัฒนธรรมมากขึ้นในสังคม
          เวทีนี้จัดโดยเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป คสป.  มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน และหอศิลป์กรุงเทพฯ บรรยากาศคึกคัก โดยมีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินกลุ่มต่างๆ นักคิดนักเขียน กวี ศิลปินหมอลำ คนในแวดวงดนตรีคลาสสิก ตลอดจนประชาชนซึ่งห่วงใยวัฒนธรรมร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
          อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป คสป. อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมไม่ต้องรอให้สถานการณ์นิ่ง เพราะความเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของชีวิต ก่อนหน้าจะมีคณะกรรมาธิการปฏิรูปวัฒนธรรม ก็ทำงานผ่านสมัชชาศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ทิศทางการปฏิรูปงานวัฒนธรรมมีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา ซึ่งงานด้านศิลปวัฒนธรรมจะสมบูรณ์แบบและทั่วถึงจะต้องเกิดจากความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ คือหน่วยงานราชการ
          และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้กำหนด นโยบาย และภาคประชาชนซึ่งเป็นคนปฏิบัติและอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี
          "ภายใต้รัฐธรรมนูญและแนวคิด Thailand 4.0 ที่รัฐบาลใช้เป็นกรอบขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปเสนอว่า ให้มีการเปิดพื้นที่ต้นแบบทางวัฒนธรรม ทั้งทางกายภาพ เช่น ถนนคนเดินตามจังหวัดต่างๆ และพื้นที่ทางความคิด รวมถึงสื่อออนไลน์ เพราะศิลปวัฒนธรรมไทยมีความมั่งคั่ง ต้องส่งเสริมให้เจริญงอกงาม ไม่ใช่ของเก่าก็หาย ของใหม่ก็ไม่ปรากฏ ต้องสำรวจความมั่งคั่ง ทำให้ปรากฏให้ได้ แล้วก็ไม่เอาอย่างฉาบฉวย" ประธาน คสป.กล่าว
          นอกจากนี้ อาจารย์เนาวรัตน์กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนจะมีพลังต้องเป็นรูปแบบไตรภาคีศิลปวัฒนธรรมอย่างสมดุล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ
          ภาคประชาสังคม เป็นสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายแต่ต้น ซึ่งยังไม่ทั่วถึง ไม่สมดุล ต้องเร่งสานพลังให้เป็นหนึ่งเดียว อีกประการสำคัญ การจัดเวทีเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย สร้างความเข้าใจกับเครือข่ายส่วนภูมิภาค และหนุนเสริมการจัดตั้งคณะกรรมการศิลปวัฒนธรรมจังหวัด นอกจากที่หน่วยงานรัฐมีสภาวัฒนธรรมจังหวัดอยู่แล้ว ให้ทำงานร่วมกันกำหนดทิศทางศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น และที่ขาดไม่ได้ การสื่อสารสาธารณะกับสังคมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
          "ขณะนี้มีเป้าหมายศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบวัฒนธรรมขึ้น อยากชวนให้คนไทยมีส่วนร่วม ทำให้เป็นจริงภายใต้รัฐธรรมนูญ 4.0 ที่เปิดทางแล้ว ในส่วนหน้าที่ของ
          รัฐที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำหรือทำโครงการแล้วส่งผลกระทบ ประชาชนมีสิทธิ์กระตุ้นเตือนและเรียกร้องความเสียหายได้ตามกฎหมาย" อาจารย์เนาวรัตน์ย้ำในเวที
          ด้าน ศ.พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า ศิลปะเป็นรูปแบบและความสวยงามเชิงอารมณ์ ความรู้สึก ขณะที่วัฒนธรรมเป็นบริบทของสังคม ที่กังวลคือ ใช้ศิลปะสื่อสารในเรื่องแปลก หยาบโลน ไม่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ศิลปะในสมัยโบราณจะงดงามและยกระดับจิตใจ ต้องรักษารากส่วนนี้ไว้ ส่วนการพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0 ฝากให้ภาครัฐและภาคประชาชนระมัดระวังการขายวัฒนธรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว
          "ตนสนับสนุนการเปิดพื้นที่วัฒนธรรม ปัจจุบันมีการจัดเทศกาล แสดงงานทั่วประเทศ พื้นที่เหล่านี้จะเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมของชาติให้มั่นคง ถ้าผลงานสร้างจากกลุ่มศิลปินที่มีศักยภาพ ก็กลับไปที่ศิลปินทุกแขนงจะต้องพัฒนาความคิดและความเชี่ยวชาญของตนเอง สร้างงานที่มีคุณค่า" อาจารย์ศรีศักรฝากถึงศิลปิน
          ในมุมมองนักกฎหมาย อาจารย์พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิศาสตราจารย์คนึง ฤๅไชย กล่าวว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่เปิดทางให้ชุมชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นใน 2 ช่องทาง คือ สิทธิส่วนตัวและการรวมตัวเป็นชุมชน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีชุมชนที่จดทะเบียน
          กับ กทม.แล้ว สามารถเข้าถึงงบประมาณเพื่อเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมผ่านกองทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การปฏิรูปทางวัฒนธรรมอยากให้รัฐเห็นความสำคัญของสิทธิท้องถิ่น หากจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ให้ท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงเอง ไม่ใช่รัฐสั่งการ
          "วัฒนธรรม ประเพณีที่ยังมีความหมายต่อการดำรงชีวิต อย่าละเมิด แต่รัฐต้องช่วยรักษาส่งเสริม ฟื้นฟู" อาจารย์พงษ์สวัสดิ์กล่าว
          ขณะที่ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที เลขานุการมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.หอศิลป์กรุงเทพฯ กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นเสาหลักหนึ่งพัฒนาสังคม แต่กลับขาดหายไปตลอด มูลนิธิเรียกร้องใช้ศิลปะขับเคลื่อนสังคม กระตุ้นการสร้างผลงานลดความเหลื่อมล้ำ โดยหอศิลป์กรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิด โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัยช่วยสร้างบทสนทนา นอกจากศิลปะแล้ว ที่นี่ยังเปิดความคิดเรื่องประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และชุมชน การขับเคลื่อนต่อไปจะหารือกับ กทม.เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู 20 ชุมชนประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ และเสริมบทบาทภาคประชาชนมากขึ้น ไม่อยากให้วัฒนธรรมนี้สูญหายไป ส่วนโมเดลหอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วม วันนี้กลายเป็นที่ชุมนุมของคนหลากหลาย สามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นนำไปปฏิบัติได้
          นอกจากงานเสวนาแล้ว ยังมีพิธีรับมอบภาพวาด "แสงสุวรรณภูมิ" ซึ่ง ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ วาดภาพหาเงินบริจาคให้มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ซึ่งพรรณี จารุสมบัติ มอบเงินให้หนึ่งล้านบาทและรับภาพทรงคุณค่านี้จาก ศ.ปรีชา และ อ.เนาวรัตน์ สองศิลปินแห่งชาติผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรมตลอดมา.






ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]