ศิลปวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ 4.0 เรื่องสำคัญที่เราต้องรู้

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 20 มีนาคม 61 / อ่าน : 2,188


          เมื่อเสาร์ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเวทีเสวนาที่หอศิลป์ กทม. เรื่อง "ศิลปวัฒนธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ 4.0" จัดโดย มูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน
          เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับล่า 2560 เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
          ที่พิเศษในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อันไม่เคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีมา คือ ฉบับนี้มีหมวดห้า ว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา
          รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาและแม้ฉบับนี้เองจะมีหมวดว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งฉบับนี้บัญญัติไว้ในหมวดหก
          ที่ว่าพิเศษคือ ในแนวนโยบายแห่งรัฐนั้น ทุกมาตราจะกำหนดไว้ต้นบทว่า "รัฐพึง"
          ส่วนหมวด "หน้าที่ของรัฐ" นอกจากมาตราต้นแล้ว ทุกมาตราจะกำหนดไว้ต้นบทว่า "รัฐต้อง"
          รัฐพึง กับ รัฐต้อง นี่ต่างกัน แทบจะเป็นตรงข้ามกันเลยนะ
          "รัฐพึง" นั้นหมายความว่า รัฐอาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ "รัฐต้อง" นี่บังคับให้รัฐ "ต้องทำ" ไม่ทำไม่ได้เอาเลยทีเดียว
          ดังมาตราต้นของหมวดห้าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือมาตรา 51 บัญญัติดังนี้
          "มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ"
          หมวดห้าว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" นี้มีทั้งหมด 13 มาตรา เริ่มแต่มาตรา 51 ถึงมาตรา 63 และดังกล่าวคือ นอกจากมาตรา 51 ซึ่งเป็นมาตราต้นหมวดแล้ว มาตราต่อจากนี้จะขึ้นต้นว่า "รัฐต้อง" ทุกมาตรา เช่น
          "มาตรา 53 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด"
          เป็นต้น
          เรื่องสำคัญในหมวดห้าว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" ที่ "รัฐต้อง" นี้มี เช่น เรื่องการศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การคุ้มครองผู้บริโภค วินัยการเงินการคลัง และสำคัญยิ่งคือ "ศิลปะ วัฒนธรรม" ดังมาตรา 57(1)
          มาตรา 57 รัฐต้อง
          (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย"


          มาตรา 57(1) นี่เองที่ว่าเป็นหัวใจของงาน "ศิลปวัฒนธรรม" อันมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งไม่เคยมีบัญญัติไว้ในทุกฉบับที่มีมา
          ดังนั้น เรื่องนี้จึงสำคัญและเป็นประเด็นเสวนาให้ร่วมอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในวันนั้น
          ผู้ร่วมเสวนาหลักมีสามคน คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ ประธานคณะ กก.มูลนิธิศาสตราจารย์คนึงฤๅไชย และคุณฉัตรวิชัย พรหมทัตต เวทีแห่งหอศิลป์ กทม.
          ทำความเข้าใจกันตั้งแต่คำ "ศิลปวัฒนธรรม" กับ "ศิลปะ วัฒนธรรม" ไปเลยทีเดียว ด้วยคำ "ศิลปวัฒนธรรม" ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญใช้คำ "ศิลปะ วัฒนธรรม" โดยตลอด
          ตรงนี้ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า คำ "ศิลปวัฒนธรรม" นั้นเราใช้ในความหมายรวม ในความหมายจำเพาะ ก็คือ ศิลปะและวัฒนธรรม นั่นเอง
          วัฒนธรรม คือวิถีชีวิต
          ศิลปะ คือความจัดเจนในการกระทำ
          สองคำนี้มีความหมายกลางๆ คือไม่ดีไม่เลว ไม่บวกไม่ลบ เช่น วัฒนธรรมนั้น ถ้าดีเราเรียกอารยธรรม ถ้าเลวเราเรียก หายนธรรม เป็นต้น ศิลปะก็มีความหมายโดยนัยเดียวกัน หากเรามักมุ่งไปที่ความดีความงามกันสถานเดียว รวมทั้งคำ "ศิลปวัฒนธรรม" นั้นด้วย จนกลายเป็นความดีงามไปหมด
          ทั้งที่จริงโจรมันก็มีวัฒนธรรมในการปล้น มีศิลปะในการโกงเหมือนกัน
          มาตรา 57(1) นี้เป็น "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งเรื่องศิลปวัฒนธรรมยังมีโยงไปยังหมวดอื่นๆ อีกด้วย เช่น หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เช่น
          มาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธ
          (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ
          ซึ่งมีเนื้อหาเดียวกับมาตรา 57(1) นั่นเอง หากมาตรา 43(1) เป็นสิทธิ ไม่บังคับ ส่วนมาตรา 57(1) เป็นหน้าที่บังคับให้ "รัฐต้อง" ทำ
          นอกจากสิทธิแล้วยังมีหมวด 4 ว่าด้วยหน้าที่ปวงชนชาวไทย ดังนี้
          มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่
          (8) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม
          มรดกทางวัฒนธรรมนี่แหละรวมไว้ซึ่ง "ศิลปวัฒนธรรม" โดยแท้
          เป็นอันว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่า พูดถึงงานศิลปวัฒนธรรมที่กำหนดให้เป็นสิทธิและหน้าที่ของบุคคล ชุมชน และบังคับให้ "รัฐต้อง" เป็นการพิเศษจำเพาะ
          ตรงนี้แหละสำคัญนัก




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]