นายเจริญ มาลาโรจน์ นามปากกา มาลา คำจันทร์ เกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๕ ที่จังหวัดเชียงราย จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนศิริมาตย์เทวี อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สำเร็จประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นต้น จากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (การสอนภาษาไทย) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาจารึกภาษาไทย) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะลาออกมาทำงานเขียนหนังสืออย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา มาลา คำจันทร์ เริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๑ เขียนเรื่องสั้นชื่อ “เจ้าที่” ได้รับรางวัลช่อการะเกดจากนิตยสารโลกหนังสือ และได้รับการลงพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้น“วันเวลาที่ผ่านเลย” ร่วมกับนักเขียนคนอื่น มาลา คำจันทร์เขียนนวนิยายเรื่องแรก ชื่อ “หมู่บ้านอาบจันทร์”ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๑ หลังจากนั้นก็มีงานเขียนอีกหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน สารคดีและเรื่องเล่าจากอดีต และเรื่องแปล นวนิยายเรื่อง “วิถีคนกล้า” ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ และเรื่อง “หุบเขากินคน” ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ งานเขียนของมาลา คำจันทร์ โดดเด่นด้วยสีสันและกลิ่นอายของท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี สภาพธรรมชาติ วิถีชีวิต ตลอดจนปัญหาในการดำรงชีวิตของชาวนา ชาวเขาในชนบทภาคเหนือ ซึ่งเกิดจากการศึกษาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทานพื้นบ้าน และเรื่องเล่าต่างๆ นำมาผสมผสานด้วยจินตนาการของผู้เขียนได้อย่างกลมกลืน ผู้เขียนสามารถสะท้อนภาพสังคมได้อย่างเด่นชัดด้วยภาษาที่สละสลวย บางครั้งภาษาโบราณและภาษาถิ่นแทรกอยู่ ทำให้ได้อารมณ์และความรู้สึก มีการนำคำและประโยคมาจัดวางจังหวะลีลาคล้ายบทกวีหรือบทเพลงพื้นเมืองสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง บรรยากาศ และตัวละครในด้านเนื้อหามาลา คำจันทร์ จะเน้นย้ำความเชื่อในเรื่องความดีงาม สอดแทรกเรื่องของศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมรวมทั้งความผูกพันของมนุษย์กับธรรมชาติและสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและบุคคลในครอบครัว ในลักษณะที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย กล่าวได้ว่าผลงานของมาลา คำจันทร์ เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้อ่านซึ้ง ตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา และเกิดความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้า ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและ ภูมิปัญญาของชาวล้านนา ส่วนวรรณกรรมเยาวชนก็ได้ช่วยเสริมสร้างมโนทัศน์และเจตคติที่ดีแก่เด็กและเยาวชนมาโดยตลอด นายเจริญ มาลาโรจน์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๕๖
การศึกษา
รางวัลที่เคยได้รับ
ผลงานที่ผ่านมา