นายบุญมี ไชยขันธุ์ หรือรู้จักกันดีในนาม หมอลำบุญมีน้อย เสียงทอง ปัจจุบันอายุ ๖๕ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ ณ บ้านหนองอีบุตร ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านคำบง ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๔
นายบุญมี ไชยขันธุ์ สนใจการขับร้องหมอลำตั้งแต่วัยเด็กมีโอกาสเรียนขับร้องหมอลำกับพ่อครูจารย์ขาน อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่ำเรียนจนเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการลำ เป็นหมอลำที่มีสุ้มเสียงลำไพเราะเป็นเอกลักษณ์ และได้เริ่มแสดงหมอลำครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง ๑๖ ปี โดยได้รับบทบาทการแสดงเป็นพระเอกหมอลำประจำคณะอัศวินเสียงทอง ในปี พุทธศักราช ๒๕๐๗ หลังจากนั้นก็ได้รับบทบาทเป็นพระเอกหมอลำเรื่องต่อกลอนคณะต่าง ๆ เรื่อยมาอีกหลายคณะ อาทิ เช่น คณะเพชรบัวขาว คณะขวัญใจสมเด็จ คณะขวัญใจประทุมทิพย์ และคณะฟ้าสีคราม เป็นต้น ลำเรื่องต่อกลอนทำนองกาฬสินธุ์ เรื่องผาแดงนางไอ่ ของคณะฟ้าสีคราม คือ ลำเรื่องต่อกลอนที่สร้างชื่อเสียงให้พระเอกหมอลำบุญมีน้อย เสียงทอง เป็นที่รู้จักของผู้ชื่นชอบหมอลำในอดีต นายบุญมี ไชยขันธุ์ หรือหมอลำบุญมีน้อย เสียงทอง ยังคงรับงานแสดงหมอลำเรื่อยมา ในปี พุทธศักราช ๒๕๕๒ ถึงปัจจุบัน รับแสดงลำเรื่องต่อกลอนทำนองกาฬสินธุ์ – สารคาม ประจำคณะดาวหลักเมือง
นายบุญมี ไชยขันธุ์ นอกจากจะเป็นผู้มีความสามารถด้านการลำแล้ว ยังเป็นศิลปินที่มีความรู้ความสามารถด้านการประพันธ์กลอนลำอีกด้วย ตัวอย่างผลงานประพันธ์กลอนลำ ได้แก่ กลอนลำรณรงค์ส่งเสริมการเลือกตั้ง กลอนลำถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายบุญมี ไชยขันธุ์เป็นทั้งผู้ส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านประเภทหมอลำโดยได้ร่วมกิจกรรมแสดงหมอลำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เช่น ร่วมกิจกรรมขับร้องหมอลำงานมหกรรมภูไทโลก ครั้งที่ ๑ ณ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ งานมหกรรมโปงลางแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาด้านการแสดงหมอลำทำนองกาฬสินธุ์แก่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน ได้แก่ เป็นวิทยากรสาธิตการลำทำนองกาฬสินธุ์ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดศิลปะการแสดงหมอลำให้แก่นักเรียนโรงเรียนห้วยผึ้งพิทยา เป็นกรรมการวิพากษ์การแสดงหมอลำให้แก่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เป็นต้น
นายบุญมี ไชยขันธุ์ หรือ หมอลำบุญมีน้อย เสียงทอง จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลำเรื่องต่อกลอนทำนองกาฬสินธุ์) ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป