สสส. แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Design Hero 2024:OK (E) CIGARETTES?

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 4 กันยายน 67 / อ่าน : 99


สสส. แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Design Hero 2024: OK ( E ) CIGARETTES ?

Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E–Cigarette หวังให้เยาวชนร่วมผลิตสื่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า

 

(วันที่ 3 กันยายน 2567) ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564-2565 ที่พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14 % ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคน เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี และส่วนใหญ่ อยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง 47,753 คน ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดา 26.7% เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า 11.3% และเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดามีอันตรายเท่ากัน 62.0% ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนและอัตราคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร ปี 2564 ที่เก็บข้อมูลจากทั้งสิ้น 73,654 ครัวเรือนทั่วประเทศ ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คน นับเป็นการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เหตุนี้โครงการ Design Hero โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ art4d จึงเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 15 – 25 ปี สมัครเข้าร่วมโครงการ Design Hero : OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E – Cigarettes เพื่อหวังใช้พลังของเด็กและเยาวชนร่วมกันออกแบบแนวคิดไอเดียเพื่อต่อยอดไปผลิตเป็นสื่อรณรงค์ในสังคมต่อไป

“การพัฒนานักสื่อสารสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีความรู้และทักษะในการออกแบบมาสื่อสาร ต่อยอดและผลักดันขยายผลในเชิงธุรกิจรวมไปถึงการนำไปใช้รณรงค์ในสังคมวงกว้าง ทุกปีที่เปลี่ยนไป เด็กก็เปลี่ยนไป เยาวชนก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นในปีนี้โครงการดีไซน์ฮีโร่ ต้องการฮีโร่พันธุ์ใหม่ที่เข้าใจทิศทางในการอยากที่จะรณรงค์อยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากความคิดเล็ก ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ “ดีไซน์ฮีโร่ในปีนี้จึงไม่แค่ประกวดแล้วจบแต่จะทำอย่างไรให้มีการไปขยายผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของโครงการในปีนี้จึงมุ่งเน้นที่การผลักดันและสร้างโอกาสให้ผลงานสร้างสรรค์ถูกนำไปสู่ “การผลิต” หรือ “จัดจำหน่าย” โดยนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและการสนับสนุนด้านเงินทุน กิจกรรมในปีนี้จะจัดให้มีการร่วมคอลแล็ปผลงานกันระหว่างเยาวชนผู้สร้างผลงานสร้างสรรค์กับแบรนด์ต่าง ๆ ในภาคธุรกิจ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการเผยแพร่ผลงานนำไปสู่การต่อยอดและขยายผลในเชิงธุรกิจ สร้างให้เกิดการประกอบการในรูปแบบของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีส่วนช่วยรณรงค์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้กับสังคมในวงกว้าง ทั้งนี้ผลงานที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อร่วมผลิตผลงานกับแบรนด์สินค้าจริงต่อไป” ดร.ดนัย หวังบุญชัย กล่าว

โดยดร.ดนัย หวังบุญชัย กล่าวต่อว่า โครงการในปีนี้เปิดรับผลงานจากเยาวชนไม่จำกัดสาขาวิชาชีพ ซึ่งผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเยาวชนอายุ 15 - 25 ปี โดยจะสมัครประเภทเดี่ยวและทีม 1 - 3 คน ก็ได้ โดยผู้เข้าร่วมโครงการสามารถส่งไอเดียที่ช่วยให้เกิดการสื่อสารในเรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า การสร้างความเข้าใจหรือการให้ความรู้เรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า การให้ความรู้ด้านสุขภาวะหรือรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกลุ่มเด็กมัธยม ภายใต้หัวข้อ Design Hero : OK (E) CIGARETTES ? Wake Up and Understand the Hazards of Vaping and E - Cigarettes เข้ามา ซึ่งสามารถเลือกประเภทของของผลงานได้เพียง 1 ประเภทเท่านั้น จาก 1.ประเภท Graphic Design โดยร่วมผลิตผลงานจริงกับแบรนด์ Q Design & Play, 2.ประเภทผลงานศิลปะหรือของตกแต่ง โดยร่วมผลิตผลงานจริงกับแบรนด์ WISHULADA, 3.ประเภท Art Toy โดยร่วมผลิตผลงานจริงกับแบรนด์ TOYLAXY และ 4.ประเภทคลิปวิดิโอ โดยร่วมผลิตผลงานเพื่อเผยแพร่จริงจริงกับช่อง Biggy Carey

 

โดยประพัฒน์ สมบูรณ์สิทธิ์ จากแบรนด์ Q DESIGN AND PLAY กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยหรือทั่วโลกมี เทรนด์ใหม่ ๆ ซึ่งหากจะต้องทำแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อขายและสร้างภาพลักษณ์ เพื่อเล่าเรื่อง เล่าความเป็นตัวเอง เล่าความเป็นแบรนด์จำเป็นต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอก่อน ซึ่งการหาตัวตนนั้นเป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์งานได้เพราะเป็นการเล่าที่ง่ายที่สุดและมีพลังที่สุด

  

    

ซึ่งสมชาติ ศรีมารัตน์ จากช่อง บิ๊กกี้ แครี่ กล่าวว่า สำหรับคนที่ต้องการจะเป็น content creator ได้จำเป็นต้องสร้าง content มาจำนวนหนึ่งที่จะทำให้คนเชื่อถือเราได้ พูดอะไรออกไป นำเสนออะไรออกไป “คนจะเชื่อ” ที่สำคัญต้องมีความใหม่ในความคิดและกล้าพูดในสิ่งที่เป็นเรื่องจริงทางสังคม ซึ่งต้องไม่ทำร้ายใคร โดยเป็นข้อดีของการทำ Content ผ่านสื่อออนไลน์ เพราะปัจจุบันนี้คนเสพสื่อออนไลน์ไปแล้วแทบกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นสื่อที่จับต้องได้ง่าย เพราะคนได้เห็น ทั้งรูป ภาพเคลื่อนไหว ได้ยินเสียง เห็นหน้า เห็นตาเวลาสื่อสาร ซึ่งทำให้เห็นถึงความจริงใจที่สื่อออกไปได้ สามารถสื่อสารออกไปอย่างตรงไปตรงมาได้

 

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ จากแบรนด์ WISHULADA กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียเข้าถึงได้ง่ายและกว้างมาก ศิลปะก็เช่นกันที่ถูกเชื่อมโยงไปกับทุก ๆ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งน้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นดีไซน์เนอร์หรือศิลปินแต่น้องๆ แต่สิ่งสำคัญที่น้อง ๆ ควรจะต้องมีคือความยืดหยุ่นในตัวเอง พร้อมที่จะเรียนรู้ รับทุกอย่างเข้ามาแล้วนำไปประยุกต์ใช้อีกที เพราะเบื้องหลังของการสร้างสรรค์นั่นคือ การบริหารจัดการ และมิติอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งต้องสร้างสมดุลเรื่องเหล่านี้ให้ได้ ลองหันมามองจุดเด่นของตัวเองและพัฒนาจุดด้อยที่มีให้พัฒนาดีขึ้น เพราะทุกคนมีความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเอง เวทีนี้ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะวัดความสำเร็จนั้นหาตัวเองให้เจอแล้วมาพิสูจน์กัน

 

และ ชญานิน อ่อนมา จากแบรนด์ TOYLAXY กล่าวเสริมว่า แน่นอนว่าในยุคนี้อาร์ตทอยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีกลยุทธิ์มากมายมามัดใจคนซื้อ ทั้งตัวหายาก ทั้งตัวพิเศษ ที่เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้แต่ละคนอยากหามาครอบครอง ที่สำคัญอาร์ตทอยสามารถสื่อสารอะไรบางอย่างลงไปได้ด้วย แม้การผลิตอาร์ตทอยจะต้องใช้ต้นทุนที่สูงแต่หากดีไซน์ออกมาได้อย่างน่าสนใจก็สามารถมัดใจคนที่หลงไหลได้ ซึ่งหากคนที่สนใจจะออกแบบดีไซน์อาร์ตทอยนั้นสิ่งที่ต้องมีก็คือ ความคิดที่ดี ไอเดียที่สร้างสรรค์ หากสามารถคิดออกมาเป็นภาพได้ก็จะสามารถสื่อสารได้ง่ายขึ้น หากใครที่มีความสามารถในเรื่องของการปั้นด้วยสามารถทำออกมาเป็นชิ้นจริง จับต้องได้ ก็จะทำให้น่าสนใจมากขึ้นได้

  

ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.ขำคม พรประสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและมีส่วนร่วมเพื่อเป็นประโยชน์และผลักดันให้นักศึกษาเข้าสู่โลกการทำงานในระดับวิชาชีพ ซึ่งนอกจากนิสิตนักศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วยังอยากจะเชิญชวนทุกสถาบันและคนที่สนใจเข้าร่วมโครงงการนี้เยอะๆ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ผู้เข้าร่วมโครงการแล้วสื่อสร้างสรรค์ที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์ในการสื่อสารต่อเพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นถึงโทษที่จะเกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าได้ในวงกว้างมากขึ้น

โดยผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการนอกจากจะได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานจากพี่เลี้ยงและวิทยากรประจำประเภทต่างๆ ทั้ง 4 คนตลอดทั้งโครงการแล้ว ยังมีโอกาสเข้ารอบเพื่อชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมประกาศนียบัตร และทุนสนับสนุนต่อยอดผลงานรวมกว่า 100,000 บาท ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครเข้ามาได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 27 กันยายน 2567 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและร่วมส่งผลงานเข้าประกวดได้ที่ bit.ly/4fZjn7B สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ประสานงานโครงการ : นายดุสิต บุตตะโยธี, นางสาวปราง ปิงเมืองเหล็ก และนายอาทิตย์ กมุลทะรา โทรศัพท์ : 064 604 2891, 062 449 6651 และ 064 043 4186 หรืออีเมลล์ : [email protected], [email protected] และ [email protected]

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณฤทัยรัตน์ ไกรรอด โทรศัพท์ 062-516-2928 Line ID : Skyjajah



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]