อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเราเสียงเยาวชนถึงใจวัยเดียวกัน

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 25 เมษายน 60 / อ่าน : 1,933


          อย่างที่ทราบกันดีว่า สุราเป็นบ่อเกิดของปัญหาทางด้านสุภาพ และก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อร่างกาย ชีวิต รวมทั้งสถาบันครอบครัวของตัวเองและผู้อื่น

          แม้ทุกวันนี้จะพบการรณรงค์มากมาย ไม่ให้ประชาชนยุ่งเกี่ยวกับน้ำเมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบสถิติของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ดื่มสุราประมาณ 17 ล้านคน หรือร้อยละ 32 ของประชากรทั้งประเทศ และที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มที่เริ่มดื่มสุราครั้งแรกเป็นเยาวชนถึงร้อยละ 50 และเป็นนักดื่มหน้าใหม่ทั้งสิ้น

 

 

          จากตัวเลขดังกล่าวจึงสันนิษฐานได้ว่า กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้อาจหลงกลช่องทางการตลาดของวงการธุรกิจสุรา ที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่เยาวชนเพื่อหวังผลกำไรระยะยาว  ดังนั้นแนวทางที่จะหยุดแท็กติกเหล่านี้คือ ต้องรณรงค์และปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ ผ่านสื่อที่เข้าถึงใจกลุ่มเยาวชน

          ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดจัดงาน ประกวดภาพยนตร์สั้น "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศส่งผลงานเข้ามามากกว่า 100 ทีม และคัดสรรจนได้ 8 ทีมเยาวชนประกบผลงานกับผู้กำกับมืออาชีพ อาทิ นายปรัชญา ปิ่นแก้ว และนายนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นต้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงภัยอันตรายจากเหล้าและเครื่องดื่มมึนเมาได้จริง

          โดยมีแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน เป็นต้น ให้การสนับสนุน

          พร้อมนำผลงานของผู้เข้ารอบไปฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2560 และหลังจากนั้นจะออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ ตลอดจนขยายไปยังเวทีพูดคุยกับเยาวชนในสถานศึกษาและเวทีเสวนาสาธารณะ เพื่อปลูกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง

          นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงปัญหาเรื้อรังที่เกิดจากเครื่องดื่มมึนเมาในสังคมไทยว่า ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกส่วน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและนำไปใช้ในระดับกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ต้องสะท้อนให้ครอบคลุมทุกแง่มุม โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและผลกระทบที่รุนแรงในระดับสังคม

          รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการ สสส. กล่าวว่า จากการรณรงค์การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านมา แม้จะมีสถิติลดลง แต่กลับพบว่ากลุ่มผู้ดื่มหน้าใหม่เป็นเยาวชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุราประมาณ 17 ล้านคน หรือร้อยละ 32 โดยเป็นผู้ชายดื่มสุรามากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า

          ที่น่าห่วงคือ กลุ่มที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีจำนวนถึงร้อยละ 50 ของนักดื่มหน้าใหม่ทั้งหมด โดยเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเฉลี่ยเกือบ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งอ้างสาเหตุของการดื่มคือ การเข้าสังคม หรือการสังสรรค์ ร้อยละ 42 เพื่อนชวนดื่ม ร้อยละ 27 อยากทดลองดื่ม ร้อยละ 24

          หากปล่อยปละละเลยสถิติใหม่นี้ หรือไม่หาทางแก้ปัญหา อาจส่งผลให้เยาวชนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง และเป็นเป้าหมายหลักที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุ่งทำตลาด และไม่สามารถแก้ปัญหานี้ให้หมดไปจากสังคมไทยได้ จึงต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้ และกระตุกเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และมุ่งเป้าหมายสำคัญไปที่เยาวชน

          นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เผยว่า การประกวดภาพยนตร์สั้น "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา" ในครั้งนี้ มีโจทย์ 4 หัวข้อเป็นทางเลือกให้กับผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกนำเสนอได้ ประกอบด้วย ข้อ 1 สุราเป็นเหตุก่อมะเร็งได้ ข้อ 2 สุราเป็นเหตุให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ ข้อ 3 สุราเป็นเหตุให้พิการและตายได้ และข้อ 4 สุราทำร้ายตนเอง ครอบครัว และสังคมได้

          นายนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์กิตติมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดประกวดครั้งนี้สามารถกระตุ้นให้เยาวชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่เรียนด้านภาพยนตร์โดยตรงเท่านั้น แต่ทำให้ทุกคนได้มีบทบาทในการช่วยลดปัญหาสังคมได้ โดยใช้ศักยภาพและความคิด เพื่อตีโจทย์และตีความด้วยสัญลักษณ์ที่สามารถสะท้อนถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเรื่องสุขภาพและสังคมได้อย่างน่าสนใจ ผ่านการเล่าเรื่องที่จูงใจ และยังนำเสนอแง่มุมที่แตกต่างจากกรอบบรรทัดฐานเดิมที่สังคมคุ้นเคยได้อีกด้วย

          สำหรับผลการแข่งขันจาก 100 ทีมคัดเลือกเข้าเวิร์กช็อป 8 ทีมจนมาถึงระดับ 'หัวกะทิ' ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศจากการประกวดได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ เรื่องครูคนใหม่ ผลงานของทีมฮักไอเดีย จากโรงเรียนเทศบาล 3 บ้านเหล่า จังหวัดอุดรธานี, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง "คำสารภาพ (Father)" ของทีม Weirdo (เวียร์โด) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง "ดองฮัก" ของทีมอีเกียหน้าเขา จากโรงเรียนภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และรางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง "John Doe" ของทีม The Thlrd Life จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

          นายปิยพงษ์ มหาธรรม หรือฟร้องซ์ ตัวแทนน้องๆ ทีมฮักไอเดีย ที่คว้าถ้วยรางวัลเกียรติยศครั้งนี้ กล่าวถึงแนวคิดจากเรื่องใกล้ตัวและถูกซ่อนเร้นในสังคม ซึ่งการเลือก "ครู" ซึ่งเป็นเหมือนแม่แบบที่ดีของสังคม กลายเป็นผู้กระทำเรื่องผิดย้อนแย้งกับสิ่งที่ตนพร่ำสอนเด็กนักเรียน จึงน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้ สามารถสะท้อนได้หลายมุม หลายวงการ ทั้งด้านกฎหมาย การศึกษา สังคม จึงนำไปสู่การนำเสนอสไตล์หนังสยองขวัญ ให้ความรู้สึกหลอน สะกดผู้ชมให้สนใจได้มากขึ้น และมองว่าสื่อภาพยนตร์สั้นที่มีเนื้อหาตรงใจ เข้าใจง่าย จะทำให้ทุกคนเข้าใจจริงๆ ว่าทำไมต้องต่อต้านพฤติกรรมนักดื่ม และควรจะแก้ไขสังคมให้ดีขึ้นอย่างไร

          สำหรับภาพยนตร์เหล่านี้จะจัดฉายในโรงภาพยนตร์ในเครือ SF Cinema เพื่อรณรงค์และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ชมกันฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มวันที่ 22 เมษายน 2560 โรงภาพยนตร์ SF Central ขอนแก่น วันที่ 28-30 เมษายน 2560 โรงภาพยนตร์ SF Central สุราษฎร์ธานี วันที่ 5-7 พฤษภาคม 2560 โรงภาพยนตร์ SF Maya เชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลรอบฉายและติดต่อรับบัตรชมได้ที่ www.artculture4health.com หรือโทรศัพท์ 09-6859-5714

          เชื่อมั่นว่า 'กระบอกเสียง' เล็กๆ นี้จะค่อยๆ เปล่งเสียงเพื่อกระตุกต่อมให้สังคมตระหนักถึงภัยของ "สุรา" ในทุกมิติ พร้อมเข้าใจกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรู้เท่าทันกลยุทธ์ต่างๆ ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังสโลแกนการประกวด "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา" ได้ดียิ่งขึ้น

 





 

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560



       


 
 
 
 
 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]