“พิธีมัดตราสัง” สัญลักษณ์แห่งวัฏจักรชีวิตและความเชื่อเรื่องภพภูมิ
การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องสัจธรรมแห่งชีวิตที่เราทุกคนต้องเจอ และนี่ถือเป็น 4 เรื่องที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดย “การตาย” นับว่าเป็นจุดจบของวัฏจักรนี้ แต่บางคนอาจจะยังมีความเชื่อว่า “การเกิดในภพภูมิใหม่” ยังคงมีอยู่ ซึ่งนี่นับเป็นตามความเชื่อของคนไทย และหนึ่งในพิธีกรรมดั้งเดิมที่เชื่อเรื่อง “โลกหลังความตาย” ยังมีอยู่จริง “พิธีมัดตราสัง” จึงถือเป็นพิธีกรรมความเชื่อที่ช่วยปลดปล่อยดวงวิญญาณให้หลุดพ้นจากบ่วงความทุกข์หรือ ห่วงต่างๆ ก่อนที่จะทำการเผา
“พิธีมัดตราสัง” (ตราสัง นี้คือรูปเเบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่ ตราสังข์ ซึ่งเราอาจจะคุ้นชินคำว่า สัง จะต้องมี ข์ ) พิธีมัดตราสังข์ คือ การมัดศพ หรือ การผูกศพ เป็นพิธีกรรมที่สำคัญของชาวพุทธ และได้มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เมื่อในสมัยก่อนถ้ามีคนเสียชีวิตจะมีการทำพิธีเบื้องต้นให้กับศพ เช่น การอาบน้ำศพ และแต่งตัวศพ ก่อนที่จะนำร่างใส่โลงศพ จากนัันทางสัปเหร่อหรือผู้ที่ทำพิธีจะเอาสายสิญจน์มามัดมือ คอ เเละเท้าเป็นเปลาะ 3 เปลาะด้วยด้ายดิบ โดยมีวิธีการมัด คือ สัปเหร่อจะเริ่มมัดตราสังคอ ก่อนที่จะลากโยงมาบริเวณกลางลำตัวทำห่วงเป็นตะกุดเบ็ดผูกที่หัวเเม่มือ เเละผูกวนมือทั้งสองข้างให้อยู่ในท่าพนมมือ จากนั้นลากโยงลงมาผูกที่เท้าทั้ง 2 ข้างให้ติดกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ศพที่เก็บไว้หลายวันพองขึ้นอืดจนดันโลงแตก และจะมีการนำดอกไม้ธูปเทียนผูกติดกับมือศพที่พนมไว้อยู่บริเวณที่หน้าอก เพราะในสมัยก่อนจะไม่มีการฉีดฟอร์มาลีนหรือน้ำยารักษาศพไว้ไม่ให้เน่าพองอืด
โดยพิธีกรรมนี้จะมีการมัดใน 3 จุดสำคัญ ได้แก่ คอ มือ และเท้า ซึ่งแต่ละจุดมีความหมายเฉพาะที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของการปลดปล่อยวิญญาณ ดังนี้
1. การมัดที่คอ หมายถึง เป็นห่วงบุตรหรือลูก
2. การมัดที่มือ หมายถึง เป็นห่วงที่เกิดจากความรักในทรัพย์สมบัติ
3. การมัดที่ข้อเท้า หมายถึง เป็นห่วงที่เกิดจากความรักในสามีภรรยา
นอกจากนี้ยังมีการมัดรอบตัวอีก 5 เปลาะ หมายถึงนิวรณ์ 5 คือสิ่งขวางกั้นจิต ไม่ให้บรรลุความดี ได้แก่ ความขี้เกียจ,ท้อเเท้,ความคิดที่ไม่สงบนิ่ง,ความกังวล และความสงสัย
ในปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไปและสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลง บางครั้งพิธีกรรมแบบดั้งเดิมอาจจะถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยหรือวิถีชีวิตคนในเมืองมากขั้น แต่พิธีกรรมนี้ยังคงมีแค่ในเฉพาะชุมชนบางชุมชน หรือ กลุ่มคนที่รักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ เช่น ทางภาคอีสาน เป็นผู้คนที่ยังคงปฏิบัติพิธีงานศพแบบดั้งเดิม ตามประเพณีความเชื่อในเรื่องของการปลดปล่อยวิญญาณ พิธีกรรมนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเเค่การจัดงานศพ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฏจักรชีวิตเเละความเชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนภพภูมิใหม่ได้อย่างลึกซึ้ง
.
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ที่
Official Web : http://artculture4health.com/
Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h
Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5
Instagram : https://www.instagram.com/artculture.4health/
Twitter : https://twitter.com/art_culture4h
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)
128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]