ถอดบทเรียน นวัตกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้”

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 28 ตุลาคม 67 / อ่าน : 85


ถอดบทเรียน นวัตกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้”

 

 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. โดย ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงาน ฯ นำทีมผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. อาจารย์มานพ แย้มอุทัย ผศ. ดร. ประภาส นวลเนตร ทีมติดตามประเมินผลโครงการฯ รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ที่ปรึกษาโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ฯ ดร.สง่า ดามาพงษ์ พร้อมด้วยทีมพี่เลี้ยงฝ่ายวิชาการด้านโภชนาการ คุณจุรี สุวรรณ์ศิลป์ คุณวิชญาพร เลียบใย คุณศศิวรรณ์ ศรีธนาอุทัยกร และคุณเกียรติศักดิ์ แหลมจริง ทีมพี่เลี้ยงฝ่ายสื่อและนวัตกรรม คุณชูเกียรติ ครูทรงธรรม คุณอารียา พรศิริวิวัฒน์ และคุณวิชิต เจียมศิริกาญจน์ ร่วมถอดบทเรียน นวัตกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้” ณ ห้อง X11.5 ชั้น 11 อาคาร KX (Knowledge Xchange for Innovation Center)

 

การถอดบทเรียน นวัตกรรมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้” เป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL Week 2024) วัตถุประสงค์ของกิจกรรมการถอดบทเรียนในครั้งนี้เพื่อทบทวน และสรุปประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของโครงการสื่อสร้างสรรค์และกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ ให้เห็นถึงรายละเอียดของเหตุผล และปัจจัยทั้งภายใน ภายนอกที่ทำให้เกิดผลอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งผลที่สำเร็จและผลที่ล้มเหลว เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย และนำความรู้ที่ได้นั้นไปถ่ายทอดเพื่อเผยแพร่และเรียนรู้ต่อไปได้

 

ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ กล่าวว่า โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ เป็นโครงการสื่อสารที่จะทำให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เป็นการนำแวดล้อมทางกายภาพ และทางสังคม มาผนวกรวมกันนำเสนอผ่านธีมที่อยู่ใกล้ตัวของนักเรียน เพื่อการสื่อสารนวัตกรรมโภชนาการสมวัย ป้องกันภาวะโภชนาการเกิน ด้วยสื่อและกิจกรรมรณรงค์ คาดหมายว่าโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนจะขยายผลในอีก 2 ปีข้างหน้าไปสู่นโยบายระดับชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายว่าโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และโรงเรียนสังกัดท้องถิ่นต่าง ๆ จะยอมรับโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพหรือไม่ในอนาคตที่จะดำเนินการต่อไป

 

ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ ได้ดำเนินการมาถึงระยะที่ 5 ภายใต้ยุทธศาสตร์การทำงาน 4 (E) คือ ENGAGE ดึงการมีส่วนร่วมของคุณครู นักเรียน ร่วมกับภาคีที่เราสนับสนุนในเรื่องของวิสาหกิจเพื่อสังคม และเครือข่ายการทำงานชุมชนอื่น ๆ ขณะเดียวกันมีการ EMPOWER วางระบบปฏิบัติการให้มีพี่เลี้ยงช่วยหนุนเสริมให้ภาคีมีความรู้สึกว่าเขามีศักยภาพ และสามารถขยายผลไปสู่โรงเรียนที่อยู่โดยรอบให้เข้ามามีส่วนร่วมในเส้นทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการหนุนเสริมในเชิงระบบ ENABLE ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้มีการจัดทำคู่มือ และระบบฐานข้อมูลในการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการหนุนเสริมทั้งในเรื่องงบประมาณและการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน สุดท้าย ENHANCE ยกระดับการทำงานร่วมกับท้องถิ่นด้วยการนำเมนูชูสุขภาพ ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมาให้เด็กนักเรียนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการคือ 1) สร้างการรับรู้และกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีทัศนคติที่ดีสู่การ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืนในด้าน 3 อ ได้แก่เรื่อง อาหาร (รู้จักคุณค่าทางโภชนาการ) การออกกำลังกาย รวมถึงการมีสุขภาวะที่ดีทางอารมณ์ และการรู้เท่าทันสื่อ 2) สามารถสร้างความร่วมมือร่วมใจให้เกิดขึ้นทุกระดับชั้นระหว่างโรงเรียน บ้าน ชุมชน ร้านค้า วัด หน่วยงาน ทางด้านสาธารณสุข โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษาใกล้เคียงสามารถพัฒนาและส่งเสริม เมนูชูสุขภาพ รวมทั้งคุณค่าโภชนาการจากอาหารและเครื่องดื่มพื้นถิ่น ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความนิยมในการบริโภคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างแนบเนียน และ 3) สามารถพัฒนาและส่งเสริม เมนูชูสุขภาพ รวมทั้งคุณค่าโภชนาการจากอาหารและเครื่องดื่มพื้นถิ่น ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความนิยมในการบริโภคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างแนบเนียน

 

คุณชูเกียรติ ครูทรงธรรม หัวหน้าทีมพี่ลี้ยงฝ่ายสื่อและนวัตกรรม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนเห็นได้ชัดว่า คุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมไปถึงชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์โภชนาการสมวัยในเด็ก เนื่องจากได้มอบหมายให้แต่ละโรงเรียนไปค้นหาของดี หรือเอกลักษณ์ชุมชนของตนเอง แล้วนำมาเรียงร้อยกันเป็นธีมผนวกเข้ากับประเด็นของสุขภาพ สร้างสรรค์ออกมาในหลายรูปแบบ เช่น เมนูท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ นวัตกรรมสื่อออกกำลังกาย เกมรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสุขภาพ เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลาย และเด็ก ๆ ยังได้รับความสนุกควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่อง โภชนาการอาหาร การออกกำลังกาย และอารมณ์ จากสื่อที่ทุกคนร่วมมือกันคิดค้นขึ้นมา

 

คุณจุรี สุวรรณศิลป์ หัวหน้าทีมพี่เลี้ยงด้านวิชาการ (โภชนาการ ) กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนใช้องค์ความรู้ 2 ส่วน เข้ามาประกอบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก ประกอบไปด้วย องค์ความรู้ด้านอาหาร และองค์ความรู้ด้านการบูรณาการสู่การเรียนการสอน โดยจะสอนให้เด็กรู้จักการอ่านฉลากโภชนาการ หวาน มัน เค็ม หรือที่เรียกว่า ฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) เพื่อให้รู้ถึงข้อมูลการบริโภคทั้งปริมาณ น้ำตาล โซเดียม หรือไขมัน ว่าควรแบ่งกินกี่ครั้ง พลังงาน โซเดียม น้ำตาล ไขมันมีเท่าไหร่ และรู้ถึงปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันเท่าไหร่ โดยสื่อผ่านเกมรู้เท่าทันสื่อซึ่งจะทำให้เด็กฉลาดกิน ฉลาดเลือก ว่าต้องกินต้องเลือกอย่างไร โดยใช้เกณฑ์อย่างง่ายคือ ใช้ปริมาณ น้ำตาล ไขมัน โซเดียมมาบวกรวมกันแล้วกำหนดเกณฑ์ว่า แต่ละครั้งเด็กจะต้องกินท่าไหร่ เช่น สีเขียว กินได้ในปริมาณที่เหมาะสม สีเหลือง กินได้เป็นบางครั้ง หรือแบ่งกินสองครั้ง สีแดง กินไม่บ่อยครั้ง หรือแบ่งกินหลาย ๆ ครั้ง โดยเราจะไม่ห้ามให้เด็กกินเลย แต่จะแนะนำว่าต้องกินอย่างไร กินให้ถูก และมีฉลากทางเลือกสุขภาพออนไลน์ที่สามารถสแกนเพื่อดูข้อมูลโภชนาการได้ ซึ่งการสอนครั้งนี้ จะให้ครูเป็นผู้จัดกิจกรรมและให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำ

 

ด้าน รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ทีมติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ กล่าวว่า ผลสรุปจากการดำเนินโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ ปีที่ 5 พบว่าสิ่งที่โรงเรียนดำเนินการภายใต้โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนฯ ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่องหลัก ๆ คือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมทางสังคม ทั้ง 2 ปัจจัยนี้เป็นการสร้างแรงบรรดาลใจให้เด็กนักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และชุมชนโดยรอบ อยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และสภาวะของอารมณ์ของตนเองให้ดีขึ้น โดยผลลัพธ์และผลกระทบที่ปรากฏ คือ โรงเรียนมีศักยภาพในการพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์ตามบริบทสังคมและวัฒนธรรม นักเรียนมีทักษะรู้เท่าทันสื่อ อ่านฉลากโภชนาการเป็น และบริโภคอย่างมีวิจารณญาณ เกิดแกนนำนักเรียน 220 คน แกนนำผู้ปกครอง 50 คน ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ต่อยอด ขยายผล และเชื่อว่าแผนการดำเนินงานของโครงการนี้มาได้ถูกทาง เพราะมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและนวัตกรรม ด้านวิชาการโภชนาการ เข้ามาร่วมกันพัฒนาศักยภาพ สร้างนักสื่อสารสุขภาพรุ่นใหม่ในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อส่งต่อความรู้ ความเข้าใจเรื่อง 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์) ผ่านนวัตกรรมสื่อที่เหมาะสมและสมวัยตามบริบทการจัดกิจกรรมของแต่ละพื้นที่

 

ทั้งนี้จะมีการจัดนิทรรศการเพื่อโชว์ผลการดำเนินงานของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้พร้อมกันที่ส่วนกลางในเดือนธันวาคม 2567 พร้อมทั้งจะมีการคัดเลือกโรงเรียนที่สร้างสรรค์สื่อออกมาได้โดดเด่นเพื่อรับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย สามารถติดตามกำหนดการได้ที่ www.artculture4health.com และช่องทางการสื่อสารภายใต้การสนับสนับสนุนโดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ทุกช่องทาง

 

 

#สสส #แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ #อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน #midlweek2024

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ที่

Official Web : http://artculture4health.com/

Facebook : https://www.facebook.com/artculture4h

Youtube แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ : http://bit.ly/3YVFSl5

Instagram : https://www.instagram.com/artculture.4health/

Twitter : https://twitter.com/art_culture4h

Tiktok : https://www.tiktok.com/@artculture4health



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]