ข่าว สื่อบันเทิง ไทย กับการใช้ ดิจิทัล เชื่อมโลก : จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 17 มกราคม 67 / อ่าน : 1,094


‘สื่อบันเทิง’ ไทย กับการใช้ ‘ดิจิทัล’ เชื่อมโลก

By กนกพร โชคจรัสกุล | จุดประกาย  16 ม.ค. 2567

 

การพูดคุยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย และการส่งออก ‘สื่อบันเทิง’ ไทย ด้วยเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลปัจจุบัน เราจะทำได้อย่างไร

ที่งานสัปดาห์นิทรรศการและเวทีเสวนาทางวิชาการ แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดภูมิพลังวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ได้มีบุคคลสำคัญในแวดวงบันเทิงไทย มาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ ภูมิพลังวัฒนธรรมสัมพันธ์กับการเชื่อมโลกผ่านดิจิทัล วันที่ 11 มกราคม 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดย ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ด้านภาพยนตร์, วิทวัส สังสะกิจ ที่ปรึกษาด้านการผลิต บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กรรมการผู้จัดการ HUNTER VILLAGE,

ชีวิน ศิริศักดิ์ CEO บริษัท อีเร็กทรัส จำกัด (Erectrus) และ ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

  • อุตสาหกรรมบันเทิง กับ โลกดิจิทัล เกี่ยวข้องกันอย่างไร

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านภาพยนตร์ กล่าวว่า โลกดิจิทัล หรือ เทคโนโลยี เป็นคำที่กว้างมาก สามารถนำมาใช้ได้หลายมิติ

"คนทำงานด้านสื่อดิจิทัล จะมีคำพูดว่า Content is King เนื้อหาสำคัญที่สุด การนำไปเสนอให้กับชาติต่าง ๆ บริบทโดยรอบสามารถเชื่อมโยงกับดิจิทัลได้ในหลาย ๆ รูปแบบ

มิติแรก การใช้ดิจิทัลเข้าถึงดาต้าต่าง ๆ เอามาวิเคราะห์ ปรับปรุง

มิติต่อมา คอนเทนท์ต่าง ๆ เดินทางไปได้ด้วยระบบที่ดี หลังปี 90 เชื่อมโยงกันด้วยดิจิทัล มือถือทำให้เราดูหนัง ที่ไหน เวลาไหน ก็ได้ เกิดเป็นแพลตฟอร์มต่าง ๆ จากเดิมที่ดูหนังต้องไปดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

มิติต่อมา ผู้ที่อยู่ในคอนเทนท์ เช่น นักแสดง บอยเลิฟ เกิร์ลเลิฟ สามารถต่อยอดธุรกิจได้ด้วยมิติดิจิทัล เช่น อินสตราแกรม โซเชียลมีเดีย

โลกดิจิทัล มีขอบข่ายหรือมิติกว้างมาก ซึ่งการประยุกต์ก็ไม่มีสูตรตายตัว มีความรู้มากก็ประยุกต์ได้มาก

เรื่องของ Time & Space มันหมดไปแล้ว เราอยากดูหนังหรือฟังเพลงซ้ำ ๆ เท่าไรก็ได้ หรือถ่ายทำด้วย Virtual ดูมุมมองของพระเอก/นางเอก แล้วใส่วีอาร์เข้าไปอยู่ในนั้นได้เลย

อยู่ที่ว่าเราจะดีไซน์มันอย่างไร เราต้องนำคนดูไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่ตามใจคนดู ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นผู้ตาม แล้วอุตสาหกรรมนี้ก็จะหดลง"

  • อดีตและปัจจุบันของการส่งออกซีรีส์

วิทวัส สังสะกิจ ที่ปรึกษาด้านการผลิต บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กรรมการผู้จัดการ HUNTER VILLAGE กล่าวว่า การมีหน้าร้านมากขึ้น ทำให้คนเห็นเราเยอะขึ้นมากกว่าสมัยก่อน

"ในยุคแรก ๆ ของการผลิตคอนเทนต์ Boy Love ก็ยากหน่อย กว่าจะไปต่างประเทศได้ ต้องมีนายหน้ามาซื้อไป แล้วเอาไปฉายอย่างถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง

เพราะว่าบางประเทศไม่ยอมรับเนื้อหาแบบนี้ มันก็ยากที่จะพาไป แต่ ณ วันนี้มันง่ายมาก เรามีแพลตฟอร์มเรามีโซเชียลมีเดียที่จะพาเราไปได้

เราได้ประโยชน์จากดิจิทัลมาก ๆ ปกติเวลาเรามีซีรีส์เราจะมีรายได้หลังจากนั้น จากการจัด Fan Meet หรือการจัดคอนเสิร์ต

จนการระบาดโควิดเข้ามา เราก็ใช้ออนไลน์ ทุกคนมาดูในออนไลน์ ต้นทุนการผลิตต่ำลง เพราะทำในห้องส่ง แต่รายรับมากขึ้น คนดูมากขึ้น ไม่ใช่แค่ 5,000 คนในฮอลล์ แต่มันได้เยอะกว่านั้นและได้ทุกมุมบนโลกใบนี้

เมื่อผู้ผลิตมีช่องทางมากขึ้น ก็มีการพัฒนาศิลปินให้เป็นที่ดึงดูด เริ่มคิดเรื่องศิลปินที่ไม่ได้มีตัวคนจริง ๆ แต่เอาข้อมูลมาทำเป็นดิจิทัล หรือมีศิลปินรวมกับค่ายเพลงหลาย ๆ ประเทศ และการทำโชว์หนึ่งโชว์ ที่ไปได้ทุกที่ ด้วยเครื่องมือนี้

ดิจิทัลมันทดแทนได้ประมาณหนึ่ง แม่จีน แม่ญี่ปุ่น ไม่ต้องเดินทางมาถึงบ้านเราเพื่อเจอศิลปินของเขา แต่เราเชื่อว่ามนุษย์กับมนุษย์ยังเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังอยู่"

  • ดิจิทัล จะมาแทนที่มนุษย์ได้ไหม

ในด้านการผลิต คุณชายอดัมกล่าวว่า ตำแหน่งต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป

"ช่างภาพ ผู้กำกับภาพ จะเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ตัดสินใจ มีแนวทางในการตัดสินใจด้วยทางเลือกศิลปะ เพราะดิจิทัล หรือ AI เลือกได้ผ่านคนที่เลือก

ในมุมของการถ่ายทำ เราจะมอง 3 อย่างคือ ถูกกว่า ดีกว่า เร็วกว่า เพื่อช่วยร่นเวลาการทำงานและร่นทรัพยากร หากมีอะไรที่เราต้องทำซ้ำกัน 3 ครั้ง มันควรจะมีระบบอัติโนมัติมาช่วยเหลือ

เทคโนโลยีไม่ได้ลดทอนคุณค่าการเลือกทางศิลปะ แต่ช่วยลดปริมาณงานเชิงแรงงานลง และตำแหน่งที่ใช้มุมมองก็มีเพิ่มมากขึ้น

ยุคสมัยของการใช้แรงงานมันกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกนวัตกรรม เปลี่ยนมาประยุกต์เก่งขึ้น ใช้สมองมากขึ้น ใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ

น่าเสียดายที่ประเทศเราไม่มีพันธกิจหลักในการใช้เทคโนโลยีปรับปรุงการทำงานและอุตสาหกรรม อย่างเกาหลี ที่มีอยู่ในพันธกิจของเขา

เขานำหน้าเราไป 20 ปี ในแง่การตั้งองค์กรส่งเสริมครีเอทีฟคอนเทนต์ สิ่งที่เราตามอยู่คือ การสร้างคนขึ้นมาแล้วอัพสกิล

ในต่างประเทศจะมีองค์กรทำรีเสิร์ชและวิจัยต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ เช่น ดิสนีย์ ก็มีดิสนีย์รีเสิร์ช เกี่ยวกับภาพและเสียงทั้งหมด

วิธีคิดนี้ไม่ได้มีในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเดียว อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ เช่น เทคโนโลยีทางการทหาร ใช้ความสั่นสะเทือนแปลงเป็นคลื่นเสียงได้ แค่เปิดวิดีโอก็รู้ว่าพูดอะไร โดยไม่ต้องมีคน ๆ นั้นในภาพเลย นี่คือเทคโนโลยีที่ล้ำมาก 

อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ผลิตจอไปถึง 20 K แล้ว ระบบเสียงเป็น 3 มิติ 4 มิติ เขารีเสิร์ชไปไกลมากแล้ว

หรือกล้องมือถือก็มาจาก SONY ที่รีเสิร์ชพบกว่าการดีไซน์เซ็นเซอร์หักเหแสงที่ตัวกระจกเลนส์ ทำให้มีขนาดเล็กลงได้

ที่อเมริกา มีรีเสิร์ชมากมาย ระบบตัดต่อ กล้อง 3-4 ตัววางไว้ สามารถสวิทช์ได้เอง ตามการหันหน้าของนักกีฬาเตะบอลในสนาม AI ประมวลผลการกระทำของมนุษย์ในเหตุการณ์นั้น ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น"

  • การนำ ดิจิทัล มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ไม่ว่าโลกดิจิทัลจะหมุนไปเร็วแค่ไหน เราก็ต้องตามไปให้ทัน โดยเฉพาะการทำตลาดในต่างประเทศ วิทวัส กล่าวว่า

"เราต้องดูว่าหน้าร้านเราไปทางไหน ไปประเทศจีน หรือ อเมริกาใต้ เราต้องดูว่าเขาใช้สื่อไหน เราต้องศึกษาแต่ละที่ว่าเขาต้องการอะไร หรือถ้ายังไม่ต้องการ เราก็สร้างดีมานด์ให้เขาต้องการ 

ในยุคแรกเราไปจีน เพราะประชากรเขาเยอะ เราแกะว่าเขาใช้อะไรอยู่บ้าง อันไหนแอคทีฟกับคนและเข้าถึงได้ และไม่โดนลบ แต่หลัง ๆ จีนเริ่มกำแพงเยอะขึ้น เราก็ไปที่อื่น แต่กลายเป็นว่าจีนก็ปีนกำแพงออกมา เพื่อมาเสพงานของเรา

กลุ่มเป้าหมายตอนนี้ ญี่ปุ่น เป็นอันดับหนึ่งที่ติดต่อมาซื้อเรา อเมริกาใต้ก็มี ล่าสุด ฝรั่งเศส เขาก็ดูคอนเทนต์เรา เราก็ไปศึกษาแต่ละท้องถิ่นว่าเขาต้องการอะไรยังไงบ้าง

ในแง่การผลิต เราส่งออนแอร์ในบ้านเราเวอร์ชั่นหนึ่ง ส่งออนแอร์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ไม่เหมือนกัน ทั้งความยาวและเนื้อหา เพราะช่องมีข้อจำกัดเรื่องของเวลา และความหวือหวา และมีเวอร์ชั่นพิเศษไว้ขายของ เรามีที่ทางในการจัดการเยอะขึ้น"

  • แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ต้องปรับตัวตามความละเอียดอ่อน

ดิจิทัล ช่วยเชื่อมโลกเข้าหากัน แต่ก็มีเส้นแบ่งจากวัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง คุณชายอดัม เสนอว่า

"อย่าลืมว่ามันจะมีกฎหมายและกฎหมู่ กฎหมู่คือวัฒนธรรม สังคม การยอมรับของผู้คน กฎหมู่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามเจนเนอเรชั่น

ถ้าเราส่งคอนเทนท์ไปที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย เขาจะมีกฎหมายของเขา เขาแบนบอยเลิฟ ทั้งที่ซาอุฯเป็นแฟนบอยเลิฟเยอะมาก หรือ ยุโรปสามารถแก้ผ้าได้ อเมริกาตัดคอได้ แต่เปิดนมไม่ได้ มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เราต้องศึกษาให้ดีก่อนไปในแต่ละที่"

  • จุดอ่อนประเทศไทย ในการพัฒนาสื่อบันเทิงในโลกดิจิทัล คือ...

เทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศไทยได้เร็วมาก แต่การเฝ้าระวังต่ำมาก คุณชายอดัมกล่าว 

"เราตกเป็นเครื่องมือในเรื่องบางเรื่องผ่านสื่อ สื่อสามารถสร้างผลดีและผลเสียได้ การเฝ้าระวังสื่อ คัดกรองเอาของดีเข้าร่างกาย แล้วขับของเสียออกไป ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย มัธยม และมหาวิทยาลัย

ถ้าเราแยกแยะไม่ออก ก็ต้องมีกฎหมายป้องกันเยาวชน ถ้าเรามีการเฝ้าระวังสื่อที่ดี เราจะมีอิสรภาพเยอะมาก เราจะดูแลตัวเองได้ และรู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด

ในโลกดิจิทัลถ้ามีคนใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เช่น กรณีตลาดคริปโตล่ม เกิดจากการปั่น จนคนติดดอยมหาศาลก็เกิดขึ้นมาแล้ว

หรือใช้ความเป็นมนุษย์ไปทำร้ายคนอื่น เพราะคนเรามีรักโลภโกรธหลง ถ้าไม่รู้จักเฝ้าระวังสื่อ สิ่งที่เราควรทำคือ การหาความรู้ ไม่หยุดเรียนรู้"

ขณะที่ วิทวัส เสริมว่า การอยู่กับที่เท่ากับถอยหลัง การเรียนรู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว และใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง จะเป็นสิ่งที่ดี

"มีบางค่ายยังอนุรักษ์การร้องให้ตรงโน้ตอยู่เลย ขณะที่เทคโนโลยีทำให้คนร้องเพราะได้แล้ว กระแสทำให้เราทำมาหากินได้ คนเรามีความสามารถเยอะมาก เรามีตัวอวตาร มีวีทูบเบอร์

เราสามารถเป็นศิลปินอีกที่หนึ่งได้ ถ้าเราไม่ทัน คนที่เขารู้เร็วรู้ทัน ก็จะไปก่อนเรา เพราะฉะนั้นคนที่เร็วกว่า ก็มีช่องทางอยู่ในสังคมได้ง่ายกว่าและทำประโยชน์จากมันได้เยอะกว่า

ส่วนในแง่นักแสดง วิชาชีพพื้นฐานก็ยังต้องแข็งแรงอยู่นะ เขาสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับแฟนคลับได้ โดยเอาเสียงไปอัด ไม่จำเป็นต้องไปเจอกันตามงาน ก็สามารถอยู่กับแฟนคลับได้ในโลกดิจิทัล"

  • วิธีการอยู่ในโลกดิจิทัล ที่หมุนอยู่ตลอดเวลา

คุณชายอดัม กล่าวว่า การเรียนรู้สำคัญที่สุด ดาต้าหรือความรู้อยู่ที่ไหน เราควรไปเรียนรู้ที่นั่น

"ข้อมูลสำคัญของโลกใบนี้ถูกเก็บเป็นภาษาอังกฤษ การเข้าถึงเทคโนโลยี รีเสิร์ช เครื่องมือ ต่าง ๆ ถ้าเราไม่รู้ภาษาเขา เราจะถูกปิดกั้นความรู้ที่เข้าถึงคน 7,000 ล้านคนในทันที แต่ถ้าเราแปลได้เราก็ส่งต่อสู่รุ่นได้

สอง. เราต้องปรับมายเซ็ทของคนทั้งประเทศให้เป็นบุคลากรด้านการแข่งขัน เราคิดว่าเรายิ่งใหญ่มาก แต่เราไม่รู้ว่าทั้งโลกเป็นยังไง แล้วจะปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมโลกได้อย่างไร

เราเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ของโลก อยากได้ดี แต่ไม่มีเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราอยากได้ผลลัพธ์อย่างเดียว แต่ไม่สร้างแผนปฏิบัติ มันจะเป็นไปได้อย่างไร

ประเทศเรามีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก การเกิดน้อย มีช่องว่างระหว่างวัย ไม่มีการส่งต่อข้อมูลความรู้ คนใช้มีเดียกับคนไม่ใช้ก็ยิ่งห่าง

สิ่งที่รัฐต้องคิดคือ ทำให้สองวัยเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน การส่งต่อความรู้หรือมายเซ็ทก็จะทำได้ง่ายขึ้น

การแก้กฎหมาย การแก้งบประมาณ การปรับโครงสร้าง การปรับมายเซ็ท คือปัญหาที่หนักมากของประเทศไทย

เราต้องสร้างนโยบายที่ถูกต้องก่อน ถ้าทำไม่ถูก มันก็เป็นแค่โครงการที่รัฐทำเพื่องบประมาณประจำปี นี่คือปัญหาที่รอการแก้"

ชีวิน ศิริศักดิ์ CEO บริษัท อีเร็กทรัส จำกัด (Erectrus) มองว่า จริง ๆ แล้วประเทศเราได้เปรียบประเทศอื่น ตรงที่ความเปิดกว้าง

"บ้านเราใช้ได้ทั้งติ๊กต่อกและเฟซบุ๊ค ขณะที่บางประทศไม่ใช้ติ๊กต่อก บางประเทศไม่ใช้เฟซบุ๊ค แต่ประเทศเราใช้ทั้งหมด และนำส่วนดีของทั้งสองมาทำให้เกิดประโยชน์

เรามีนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ แต่เรายังไม่รู้เลยว่าเราอยู่ตรงไหน แล้วเราจะไปไหน ซอฟต์เพาเวอร์เป็นเรือ ที่เราหยิบอาหาร วัฒนธรรม ศิลปะ การออกแบบ มาใส่ แล้วจะไปไหนล่ะ เมื่อไร หรืออีก 25 ปี"

  • ยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของไทย กำลังทำอะไรอยู่ 

ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านภาพยนตร์ คุณชายอดัมกล่าวว่า

"ต้องเรียนตามตรง คณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์ 11 สาขา ที่เราไปพูด เราปัดตกข้อเสนอของรัฐในเรื่องทิศทางของประเทศสองรอบแล้ว เราขอให้กลับไปศึกษาใหม่

การเดินหน้าประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะทำยุทธศาสตร์ชาติ 10-20 ปี เราต้องคิดเยอะ ๆ ต้องศึกษาทั้งโลก จะได้รู้ว่าเราอยู่จุดไหนของโลก และเราจะมุ่งไปทางไหน

ระหว่างนั้นเราก็ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมในไทยให้ครบทุกภูมิภาค แล้วเชื่อมต่างประเทศให้ครบกับการเป็นประชาคมโลก

หน้าที่ตอนนี้คือสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนทิศทางที่ดีและถูกต้องจะมาอย่างไร ต้องบอกว่า ยังไม่มา นะครับ"

 

ข่าวโดย : จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ

ภาพทั้งหมดโดย : Cr. Kanok Shokjaratkul

อ่านข่าวต้นฉบับ : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1108718 

 

 

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]