สสส. ชวนเด็กและเยาวชน ร่วมประกวดคลิปสั้น สารคดีสั้น และหนังสั้นด้วยมือถือ โครงการอย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 8 เมษายน 62 / อ่าน : 2,689


สสส. ชวนเด็กและเยาวชน ร่วมประกวดคลิปสั้น สารคดีสั้น และหนังสั้นด้วยมือถือ โครงการ "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา"  ใน 2 โจทย์ใหญ่ กรุ๊ปเลือดเมา = คุก และหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวังพลังเด็กสร้างสื่อ สร้างสรรค์ ใช้สื่อสารรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “เมา” สร้างความสูญเสีย บาดเจ็บ และตาย ในสังคม


(วันที่ 5 เมษายน 2562) โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวง สาธารณสุข กรมการขนส่งทางบก กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ชวนเยาวชน หรือบุคคลทั่วไป 15 -25 ปีประกวดคลิปสั้น สารคดีสั้น และหนังสั้นด้วยมือถือ โครงการ “อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา” ภายใต้โจทย์ กรุ๊ปเลือดเมา = คุก และหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ที่ผ่านมาพบว่าการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตของคนไทยเทียบกับปีที่ผ่านมาพบยอดผู้เสียชีวิต จำนวน 4,631 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 40 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บ 3,829 ราย ลดลง 176 คน และจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุมีจำนวนลดลง 50 ครั้ง (จาก 3,841 ครั้ง เป็น 3,791 ครั้ง) โดยผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตพบเป็นเพศชายร้อยละ 65.06 ซึ่งกลุ่มอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดร้อยละ 17.59 สำหรับการบาดเจ็บและการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ร้อยละ 79.97 นอกจากนี้ยังพบว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มสุราของเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีจำนวน 1,445 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.47 ของผู้ดื่มสุราทั้งหมดด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้สังเกตได้ว่าจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแต่ละวันในช่วงเทศกาล มีจำนวนใกล้เคียงกับวันอื่นๆ นอกเทศกาล การเน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและมีการปรับระบบการรณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง อย่างจริงจังตลอดทั้งปีทุกวันไม่เฉพาะเทศกาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประกวดคลิปสั้น สารคดีสั้น และหนังสั้นด้วยมือถือ โครงการ "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา"  ใน 2 โจทย์ใหญ่ กรุ๊ปเลือดเมา = คุก และหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ต้องเกิดขึ้น

           โดยนายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเกี่ยวกับการหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในสถานการณ์การตลาด การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พยายามเลี่ยงกฎหมายโดยการโฆษณาสร้างแบรนด์ผ่านตราสัญลักษณ์  ที่ถูกจำกัดตามมาตรการในการควบคุมการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ. 2551 ว่าห้ามโฆษณา แล้วก็โฆษณาต้องเป็นเรื่องสร้างสรรค์สังคม แล้วก็ต้องโฆษณาในสิ่งที่ปรากฏในกฎกระทรวง ตามระยะเวลา ตามรูปแบบที่ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้กำหนดเท่านั้น แต่ในปัจจุบันบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มตามกฎหมายอาหาร แล้วใช้สัญลักษณ์ของเครื่องดื่มอาหาร มาโฆษณาแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นช่องว่างของกฎหมาย ที่หากโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยตรงเลย ก็จะไม่มีปัญหา แต่ต้องหาวิธีการและมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาก่อน ตรงนี้เหมือนกับ น้ำดื่ม โซดา ที่ใช้โลโก้คล้ายกัน แต่เจตนาโฆษณาสินค้าอื่นๆ ในแบรนด์นั้นๆ ดังนั้นอาจต้องใช้กฎหมายอาหารเข้ามาดำเนินการแทน โดยดูว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้อยู่ที่เจตนา หากโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยตรงเลย ก็จะไม่มีปัญหา แต่การมาโฆษณาว่าเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ ต้องมีการตรวจสอบต่อไป ซึ่งการเผยแพร่กลยุทธ์เหล่านี้ให้สังคมได้เข้าใจผ่านสื่อที่เด็กและเยาวชนจะสร้างสรรค์ขึ้นนี้ก็อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจและควรต้องเร่งทำ

           ด้านนางนงนุช ตันติธรรม รองผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือดเมา = คุกว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ ในการรณรงค์ที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายทั้งในระดับที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ คือ การตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ซึ่งหากมีการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจแล้วไม่ยอมเป่า ถือว่า “เมา” ศาลอาจพิพากษาลงโทษจำคุก หรือให้ใส่กำไลคุมประพฤติระหว่างรอการลงโทษ และหากยอมเป่าแล้วพบว่ามีค่าแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่า “เมา” เช่นกัน มีความผิดตามกฎหมายจราจรจราจรทางบก มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบขับขี่ และสามารถยึดรถไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน  และหากดื่มแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ไม่ยอมเป่า และไม่ยอมให้ตรวจเลือดให้สันนิษฐานว่าเมาสุราทุกราย และในกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตญาติมีสิทธิร้องขอให้พนักงานสอบสวนส่งตรวจเลือดผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งสถานพยาบาลของรัฐบาลสามารถตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุกรายภายใน 4 ชั่วโมงได้ ซึ่งโทษสำหรับผู้ที่มีค่าแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถ้าขับรถไปชนผู้อื่นทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายทางร่างกายและจิตใจ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย ถ้าขับรถชนผู้อื่นได้รับอันตรายอย่างสาหัส มีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือเพิกถอนใบขับขี่ไปเลย และถ้าขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลสามารถสั่งเพิกถอนใบขับขี่เลย และในกรณีผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือใช้ใบขับขี่ชั่วคราวหากตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าผิดกฎหมาย

       “อยากให้เด็กและเยาวชนที่สนใจก้าวเข้ามาสร้างสื่อสร้างสรรค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเยอะๆ เพื่อเป็นกระบอกเสียง อย่างน้อยเด็กๆ ได้รู้ว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขับรถ แล้วเกิดอุบัติเหตุจะต้องถูกตรวจแบบนี้ เชื่อว่าเมื่อเขารู้ พ่อแม่ก็น่าจะมีส่วนรับรู้และคอยช่วยตักเตือนดูแลไปด้วย เป็นเหมือนการประชาสัมพันธ์ไปในตัวอย่างหนึ่งเช่นกัน อีกทั้งเราอยากรู้เหมือนกันว่าเด็กคิดอย่างไร? มีวิธีการสื่อสารอย่างไร? ซึ่งนั่นอาจจะช่วยสื่อสารกับคนในวัยเดียวกันให้เข้าใจเนื้อหาเหล่านี้ง่ายขึ้นก็ได้” นางนงนุช ตันติธรรม กล่าว

           ด้านนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน เราจึงสนับสนุนให้เด็กๆ มาทำงานถ่ายทำแล้วก็ตัดต่อคลิปด้วยมือถือ ในโครงการการประกวดคลิปสั้น สารคดีสั้น และหนังสั้นด้วยมือถือ โครงการ "อย่าปล่อยให้เหล้ามาลวงเรา"   โดยในการทำงานทุกกระบวนการจะมีพี่เลี้ยงในเรื่องหนังสั้นจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย พี่เลี้ยงจากรายการสารคดีมืออาชีพ รายการคลิปสั้นมืออาชีพ ไวรัลคลิปมืออาชีพมาให้คำแนะนำตลอดโครงการ หากเยาวชนหรือบุคคลทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 15 -25 ปี ทั่วประเทศสนใจ สามารถรวมตัวกันเป็นทีม ทีมละ 3-5 คน ร่วมส่งสคริปต์ และสตอรี่บอร์ดรูปแบบที่จะนำเสนอ ภายใต้โจทย์ที่สนใจโจทย์ใดก็ได้ คือ กรุ๊ปเลือดเมา = คุก และหยุดโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ามาที่อีเมล์ [email protected] คัดเลือกเป็น 20 ทีมที่เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จากนั้นลุ้นเป็น 10 ทีมสุดท้ายเพื่อรับทุนสนับสนุนผลิตผลงานจริง เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในลำดับต่อไป ทั้งนี้เราคาดหวังว่าเยาวชนที่เข้าสู่การประกวดนั้นจะเป็นต้นแบบที่ดีในการเป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อให้สังคมรู้เท่าทัน คนสังคมมีสุขภาพกาย ใจ สังคม ปัญญาที่ดีต่อไป

       ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.artculture4health.com และ www.Pings.in.th รับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 นี้

 

 

 

สนใจสามารถดาวน์โหลใบสมัครได้ที่นี่ คลิกที่นี่



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]