สสส.รร. เปิดตัวโครงการ สุขภาพดี วิถีชนเผ่า โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน (ชมคลิป) : นสพ. ดีดี โพสต์ นิวส์

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 18 มีนาคม 62 / อ่าน : 2,022


ดึงครู – นักเรียน ร่วมรณรงค์ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ลดภาวะโภชนาการไม่สมวัยสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้มากกว่าปกติ ทั้ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ จัดประกวดนิทรรศการใครเจ๋ง รับถ้วยรางวัลพระราชทาน‘สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ ไปครอง

 

  

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดงาน“โครงการสุขภาพดีตามวิถีเผ่าฉัน (THEME : HEALTHY TRIBES เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการรักษาสุขภาวะโภชนาการที่ดีด้วยนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายให้เหมาะสม และมีภาวะโภชนาการที่สมวัย ขยายโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มันเค็ม เพิ่มผักและผลไม้) สู่ชุมชน โรงเรียนเครือข่ายและภาคี โดยมี นายณัฐพล แสงอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน กลุ่มชาติพันธุ์ จีน ไทใหญ่ ลาหู่ (มูเซอ) และชาวพื้นเมือง ต้อนรับ


นายมานพ แย้มอุทัย กล่าวว่า สสส.มีความห่วงใยเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ได้ตระหนักถึงภาวะนิสัยการบริโภคที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเยาวชนในอนาคต จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการรักษาสุขภาวะโภชนาการที่ดีด้วยนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพ TRIBES MODEL คือ การนำตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัวมาให้คำจำกัดความที่สอดคล้องกับกิจกรรม ดังนี้ T = Talent of tribes พรสวรรค์ของชนเผ่า(วิถีการรักษาสุขภาพตามภูมิปัญญาของชนเผ่า) R = Remix กิจกรรมบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพของชนเผ่า I = Innovation นวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพ การจัดทำสื่อส่งเสริมโภชนาการสมวัย B = Beware การส่งเสริมสุขภาพโดยการเฝ้าระวัง การติดตามภาวะสุขภาพของนักเรียนรายบุคคล และการจัดกิจกรรมทดสอบสมรรถภาพนักเรียน E = Explanation การนำความรู้ทางด้านสุขภาพไปเผยแพร่สู่ชุมชน ภาคีเครือข่าย และ S = Social awareness การรู้เท่าทันสื่อโดยแกนนำนักสื่อสารสุขภาวะ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยนมีพฤติกรรมสุขภาพ 3 อ. อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกายที่เหมาะสม และมีภาวะโภชนาการที่สมวัย นอกจากนี้ สสส.ยังมีการขยายโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มันเค็ม เพิ่มผักและผลไม้) สู่ชุมชน โรงเรียนเครือข่ายและภาคีเครือข่ายในช่วงเทอมการศึกษานี้ด้วย เพื่อส่งเสริมสุขภาพเยาวชนให้เกิดความยั่งยืน


นายมานพ ยังกล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว จะเป็นสื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ในภูมิภาค ปีที่ 3 เทอม2 เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning)กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ ครู และนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ผลสัมฤทธิ์ของโครงการปรากฏพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ หลังดำเนินโครงการฯ ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (สมส่วน) เพิ่มขึ้น ท้วมหรืออ้วนสูงลดลงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ผอม) ยังคงมีเท่าเดิม ซึ่งโดยภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย แต่สำหรับสื่อสร้างสรรค์ที่ใช้ในการรณรงค์ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ที่แต่ละโรงเรียนทำขึ้นนั้น ในหลายโรงเรียนทำได้ดี แต่ควรมีการพัฒนาให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น สามารถมีส่วนร่วมได้หลากหลายขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถกระตุ้นหรือจูงใจให้เด็กนำไปใช้ และควรบอกต่อไปยังครอบครับ ชุมชน และสังคมรอบข้างต่อไปได้ด้วย


สำหรับในเทอม2 นี้ได้มีการต่อยยอดและขยายผลกิจกรรมและสื่อที่เกิดขึ้นในเทอม 1 ในโรงเรียนที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มทำต่อได้ จากเดิม 25 โรงเรียน เหลือที่เข้าร่วมสานต่อ 22 โรงเรียน ใน 4 ภูมิภาค โดยโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน เป็น 1 ในโรงเรียนต้นแบบครั้งนี้ ซึ่งเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ในเทอม 2 ของแต่ละโรงเรียนจะดูจาก ความต่อเนื่องของแผนจากเทอมแรก (ที่ทำให้เด็กเกิดความตระหนัก),2.การขยายเครือข่ายในการทำงาน,3.การสร้างผู้นำเด็ก,4.ภาวะโภชนาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น,5.กิจกรรมทางกายที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ,6.การรู้เท่าทันสื่อ และ 7.การบูรณาการกับวิชาต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานใหญ่ของนักเรียนรวมทั้ง 22 โรงเรียน ในโครงการดังกล่าวนี้ด้วย แต่จะเป็นสถานที่ใดจะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยสามารถติดตามข่าวสารจากเว็ปไซด์ www.artculture4health.com/nofat ได้ในเร็วๆ นี้ และโรงเรียนใดสามารถทำได้ตามเกณฑ์แล้วมีความโดดเด่นที่สุด ก็จะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอง
ทางด้าน นายณัฐพล แสงอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน กล่าวว่า ที่โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน มีนักเรียนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งประกอบด้วยชาติพันธุ์จีน ชาติพันธุ์ไทใหญ่ ชาติพันธุ์ลาหู่ (มูเซอ) คนพื้นเมือง ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาเด็กที่มีภาวะโภชนาการไม่สมวัย คือ เด็กผอมมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทต่างๆ อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารที่มีไขมันสูง ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างรวมทั้งการติดเกมส์ การติดสื่อสาธารณะทำให้เด็กนักเรียนมีการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายน้อยลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการไม่สมวัยและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนซึ่งสามารถเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้มากกว่าปกติ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ข้ออักเสบ ขาโก่ง รวมทั้งสมาธิสั้น ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน โรงเรียนบ้านห้วยเฮี่ยน ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการมีภาวะโภชนาการที่ดี ได้รับอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ส่งผลดีต่อการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข


สำหรับนิทรรศการสุขภาพดีวิถีชนเผ่าที่จะเกิดขึ้น นายณัฐพล แสงอรุณ กล่าวว่า มีการแบ่งองค์นิทรรศการ ออกเป็น3 องค์คือ 1.ให้รู้จักตัวตนชนชาติพันธุ์,2 ต๊ะต่อนยอนสุขสันต์ประกอบเพลงออกกำลังกาย และ 3. จับมือไว้เพื่อเป้าหมายสุขภาพเด็กไทยดี ซึ่งมีกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมีมากมาย อาทิ กิจกรรมกาดหมั้วที่เป็นอาหารชนเผ่าลดพุง ลดโรค ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ (ชาติพันธุ์จีน/ชาติพันธุ์ลาหู่/ ชาติพันธุ์ไทใหญ่), นิทรรศการแสดงผลงานเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสื่อส่งเสริมสุขภาพ ที่เป็นแบบบันทึกสุขภาพ การทำอุปกรณ์ออกกำลังกายด้วยวัสดุจากชุมชน, กิจกรรมการเรียนรู้อาหารชนเผ่าเพื่อสุขภาพบูรณาการกิจกรรมการเรียน การสอน 8 กลุ่มสาระ, นิทรรศการการขยายเครือข่ายโครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วนสู่ชุมชนและโรงเรียน เครือข่าย, กิจกรรมสื่อส่งเสริมสุขภาพ แข่งรถฟอร์มูล่า พาสุขภาพดี วิถีชนเผ่า ตามด้วยสถานีการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งเป็นฐานกิจกรรมพลศึกษา และกิจกรรมการออกกำลังกาย ร้อง เล่น เต้น ลดพุง ต๊ะต่อนยอนฟิตฟอร์เฟิร์ม
โดยจะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเทอมที่ 1 ซึ่งเราได้นำมาการบูรณาการ สร้างการมีส่วนร่วม แล้วก็ต่อยอดองค์ความรู้ จากที่เด็กในโรงเรียนไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ตอนนี้เด็กได้รับรู้และเข้าใจมากขึ้น มีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น อยากเชิญชวนโรงเรียนอื่นๆ เอาจริงจังและสนับสนุนเด็กๆ แบบนี้ทุกโรงเรียน อนาคตเด็กๆ จะรักสุขภาพและห่างไกล “โรคอ้วน” ได้แน่ๆ” นายณัฐพล แสงอรุณ กล่าวทิ้งท้ายไว้

                 ปัญญา เพชรแก้ว / ผู้สื่อข่าวภูมิภาคโพสต์ รายงาน

                 ที่มาของข่าว :http://www.ddpostnews.com/34380

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]