บ้านดงบังเมืองเสือที่ยังเหลือต้นไม้

หมวดหมู่ อีสาน , โดย : Northeast60-0006 , 16 สิงหาคม 61 / อ่าน : 7,543


บ้านดงบังเมืองเสือที่ยังเหลือต้นไม้ 


 

            บ้านดงบัง ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ฟังแค่ชื่อก็รู้ว่าหมู่บ้านนี้น่าสนใจเพียงไร เพราะคำว่า “ดงบัง”หมายถึง หมู่บ้านที่มีป่ารกชัฎและมีต้นไม้บดบัดหมู่บ้านเอาไว้ แม้เวลาผ่านไปเป็นร้อยปี สภาพความเป็นหมู่บ้านยังคงพอหลงเหลือต้นไม้ใหญ่ให้ได้เห็นอยู่บ้าง

            บ้านดงบังตั้งอยู่บนถนนสาย วาปีปทุม-บุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวอำเภอนาดูนประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น แต่หากไปทางลัดเลาะเข้าหมู่บ้านระยะทางก็จะสั้นลงไปอีก


            หมู่บ้านดงบังแห่งนี้เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และชาวบ้านที่หมู่บ้านนี้จากการสืบค้นประวัติพบว่า โยกย้ายมาจากกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในช่วงปีประมาณปี พ.ศ. 2230 ก่อนจะมาสมทบกับกลุ่มของญาครูขี้หอม หรือ ราชครูโพนสะเม็ พระนักปราชญ์ที่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ลาวและไทย เพราะมีบทบาทสำคัญในการพาชาวลาวอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงจากเมืองจำปาสัก สปป.ลาว เข้าไปที่ประเทศกัมพูชา แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะกัมพูชาเก็บส่วยคนที่ไปพักพิงมากเกินไป ท่านเลยพาไพร่พลกลับมาตั้งหลักที่เมืองจำปาสักอีกครั้ง ก่อนจะพาอพยพอีกระลอกเข้ามาในแผ่นดินอีสานซึ่งสมัยก่อนยังไม่ได้แยกว่าเป็นอีสานเพราะพื้นดินแถวภาคอีสานคือพื้นที่หนึ่งของประเทศลาวเช่นกัน โดยเข้ามาทางจังหวัดอุบลราชธานี  และเดินทางเข้ามาในพื้นที่เมืองท่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองสุวรรณภูมิ  หรือ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในช่วงปีพ.ศ. 2256 โดยมีเจ้าแก้วมงคลเป็นเจ้าครองเมืองและก่อนลูกหลานจะแยกย้ายกันออกไปตั้งเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมือง ทั้ง ร้อยเอ็ด โกสุมพิสัย วาปีปทุม พยัคฆภูมิพิสัย หนองหาน และเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมือง


            สำหรับชาวบ้านดงบังนั้น หลังจากมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่เมืองท่งศรีภูมิแล้ว ก็โยกย้ายแยกออกมาอยู่ที่บ้านศรีทองหลาง เมืองวาปีปทุม  แต่ไม่ทราบปีพ.ศ.ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเก่าน้อยในช่วงปี พ.ศ.2316 หรือ ตรงกับสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ในขณะที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บ้านเก่าน้อยแต่ที่ทำไร่ ทำนามาอยู่ในพื้นที่บ้านดงบัง เพราะสภาพพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เพราะมีคลองน้ำล้อมรอบ ทำให้บริเวณบ้านดงบังเมืองเป็นเนินสูงและมีความอุดมสมบูรณ์มาก ในขณะที่บ้านเก่าน้อยนั้นค่อนข้างแห้งแล้ง และปลูกพืชผักอะไรไม่ได้ผล หลายครอบครัวอพยพหนีไปอยู่บ้านอื่นหลายแห่ง ทั้งบ้านหนองพอกและหมู่บ้านอื่น ๆ  จนในที่สุดชาวบ้านเก่าน้อยที่อพยพมาอยู่บ้านดงบังได้ไปรื้อเอาวัดมาสร้างที่บ้านดงบัง บริเวณด้านทิศเหนือบ้านของพ่อสงกา พิมพ์รัมย์ ในปัจจุบัน โดยบริเวณที่ตั้งวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันต้นโพธิ์ต้นนั้นก็ยังอยู่ โดยวัดที่ย้ายมาชื่อวัดโพธิ์ การก่อตั้งไม่ได้ระบุปีพ.ศ.แต่คาดว่าประมาณกว่า  200 ปีย้อนหลัง  ก่อนจะย้ายมาตั้งอีกครั้งที่วัดโพธิ์ทองในปี พ.ศ. 2343 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ตั้งวัดโพธารามปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้ถนน การสัญจรไปมาสะดวก และชาวบ้านหลายหมู่บ้านสามารถมาร่วมทำบุญที่วัดได้ โดยต่อมาวัดโพธิ์ทองได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธารามในปี พ.ศ. 2458  รวมอายุการก่อตั้งจากวัดแห่งนี้ตามเอกสารที่สืบค้นได้มีอายุประมาณ 218 ปี


            สำหรับสาเหตุที่ชาวบ้านเก่าน้อยเลือกที่จะมาอยู่บ้านดงบังซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันนั้น เพราะมีชัยภูมิดี เป็นเนินสูง มีต้นไม้ปกคลุม เพาะปลูกอะไรก็เกิดเพราะน้ำดี โดยมีคลองน้ำล้อมรอบทุกทิศ ทั้งห้วยช่องงอก ห้วยหนองจอก ห้วยหนองบัว ห้วยขุมปูน ห้วยบางบอน แถมหมู่บ้านแห่งนี้ยังไม่มีสัตว์ร้ายมากล้ำกรายแม้สมัยก่อนจะมีสัตว์ดุร้ายอย่างเสือ ที่มีอยู่เยอะในป่าแถบนี้แต่บ้านดงบังนี้เสือไม่กล้าเข้ามาใกล้ โดยผู้เฒ่าผู้ แก่บอกว่า “ภูมิบ้านดี” มีศาลปู่ตาดูแลและปกปักคุ้มครองอยู่ทำให้เสือร้ายไม่มากรายไกล้


            สำหรับประวัติการก่อตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านดงบังนั้น พอมีการสร้างวัดแล้ว ได้มีการสร้างสิม หรือ โบสถ์ โดยสิมแห่งนี้มีความพิเศษเพราะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือ ฮูปแต้มอยู่ด้วย โดยคาดว่าสิมแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2447 และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2451 โดยช่างที่เขียนคือ ช่างสิงห์ จากบ้านคลองจอบ อ.พยัคฆภูมิพิสัย  ส่วนหอแจกหรือศาลาการเปรียญนั้น สร้างปีพ.ศ. 2460 เพราะมีเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนที่บริเวณบันไดทางขึ้นหอแจกด้านทิศตะวันออก

            ในขณะที่บ้านดงบังแห่งนี้มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ที่เริ่มต้นจากการเป็นโรงเรียนวัดก่อสร้างปีเดียวกันกับ หอแจกคือปี พ.ศ. 2460 ก่อนจะขยับขยายออกไปตั้งเป็นโรงเรียนประถมแห่งแรกของหมู่บ้านนั่นคือโรงเรียนชุมชนบ้านดงบัง เมื่อปี พ.ศ. 2509 ส่วนอาคารโรงเรียนเดิมที่อยู่ภายในวัดได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนปริญัติธรรมและถูกยุบไปในที่สุด รวมอายุการก่อตั้งหอแจกและโรงเรียนแล้วนับถึงปี พ.ศ.2561 เป็นเวลา 101 ปีพอดี


           จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน พบว่าตามพื้นดินของหมู่บ้านแห่งนี้ เคยมีการขุดพบ ไห กระดูก โลหะ บาตรพระ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าบ้านดงบังแห่งนี้เคยมีคนอยู่อาศัยมาก่อน ก่อนที่ชาวบ้านที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่

            ในยุคแรกของการก่อตั้งบ้านเรือน ชาวบ้านยังปกครองกันในรูปแบบของเมืองลาว ที่มีจ่าบ้าน กวนบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) มีตาแสง หรือกำนันเป็นคนดูแล สมัยก่อนบ้านดงบัง ขึ้นตรงกับเมืองพยัคฆภูมิพิสัย หรือ อ.พยัคฆภูมิสัย ก่อนจะย้ายมาขึ้นกับกิ่งอำเภอนาดูน ในปี พ.ศ. 2508 และกิ่งอำเภอนาดูนได้ยกระดับเป็นอำเภอนาดูนในปี พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นช่วงที่กรุพระนาดูนแตกพอดีและทำให้ อ.นาดูนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ


            ปัจจุบัน ตำบลดงบังมี 8 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้าน หมู่1 บ้านเก่าน้อย , หมู่2 บ้านวังดู่ , หมู่3 บ้านหนองพอก , หมู่4 บ้านดงบัง , หมู่5 บ้านโนนเขวา , หมู่6 บ้านยางสะอาด , หมู่7 บ้านดงบัง, หมู่ 8 บ้านแดงโพง

 

 ส่วนบ้านดงบังมี 5 คุ้ม

+++++++++++++  

โครงการถอดรหัสฮูปแต้ม ดำเนินการโดยเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน สนับสนุนโดย แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการเมืองสามดีวิถีสุข 

 

เรียบเรียงโดย สุมาลี สุวรรณกร 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]