เยาวชนสินไซ จัดทัวร์เด็กแว้นชมแหล่งท่องเที่ยวสาวะถี

หมวดหมู่ อีสาน , โดย : Northeast60-0006 , 7 กุมภาพันธ์ 61 / อ่าน : 3,498



เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561  ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนสินไซ นำโดย นายภานุพงศ์ อุดม และเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันจัดทริปท่องเที่ยวในชุมชน ด้วยการพาแขกพิเศษจำนวน 8 คน ไปเยี่่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชุมชนสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น 


โดยพื้นที่ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ดี ที่น่าไปเยี่ยมชม เพราะความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนในพื้นที่มีให้กันในการร่วมพัฒนาชุมชน โดยมีวัดและเจ้าอาวาสเป็นศูนย์รวมของจิตวิญญาณ ทำให้พื้นที่นี้มีการพัฒนาไปอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการเอาเรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาพื้นที่  

 

โดยแหล่งท่องเที่ยวประกอบด้วย


 1.วัดไชยศรี  วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบสถ์หรือสิม ที่มีอายุกว่าร้อยปีเศษ เดิมมุงหลังคาด้วยแผ่นไม้ ซึ่งมีเอกลักษณ์คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 หลังคาทรุดโทรมจึงมีการรื้อและทำหลังคาขึ้นใหม่ เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ส่วนฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนัง หรือ "ฮูปแต้ม" ที่ยังคงมีความเด่นชัด  "ฮูปแต้ม" หรือจิตรกรรมฝาผนังของวัดไชยศรี (ด้านในโบสถ์) เป็นการเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้า เรื่อง สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ภาพเทพ บุคคลและสัตว์ต่าง ๆ  ซึ่งด้านในห้ามสุภาพสตรีเข้า ส่วนผนังด้านนอกเป็นการเขียนภาพนรกเจ็ดขุม เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ และภาพทหารยืนเฝ้าประตู ถึงแม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม และแม้จะมีบางส่วนเลือนหายไปตามกาลเวลาบ้าง แต่ถือว่าฮูปแต้มของที่นี่ยังคงมีความชัดเจนและสวยงามอยู่มาก

 

2.โนนเมืองเก่า  เดิมเป็นเมืองเก่า เมื่อประมาณ 2000 ปีมาแล้ว มีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณโนนเมือง ซึ่งพื้นที่บริเวณโนนเมือง เป็นพื้นที่สูง มุมโค้งล้อมรอบ มีกลุ่มคนจากหลายจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่โนนเมืองเพื่อรับจ้าง และในโนนเมืองเก่ามีศาลปู่ตาเก่าแก่ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าศาลแห่งนี้มีผีบรรพบุรุษที่ดูแลท้องนาไม่ให้มีใครมาทำอะไรที่ไม่ดีได้ ซึ่งในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถเข้ามาบริหารจัดการ ใช้เป็นที่พักผ่อนได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ลานกว้าง 


3.พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถี โรงเรียนบ้านสาวัตถีราษรังสฤษฎิ์ พิพิธภัณฑ์นี้ เดิมเป็นอาคารเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวัตถีราษรังสฤษฎิ์ในระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1-2 ตามความต้องการของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เห็นว่าอาคารไม้นี้มีความเก่าเพราะจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยลงจึงตัดสินใจมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้น ไม่ได้จัดซื้อแต่อย่างใด แต่มาจากชาวบ้านซึ่งนำของเก่าที่ตนมีอยู่มาบริจาคให้ เนื่องจากอยากมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา ซึ่งสิ่งของที่จัดแสดงนั้นเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ชาวบ้านชุมชนสาวะถีใช้ประโยชน์ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่คนในชุมชนสามารถเป็นคนถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมได้รับรู้ โดยในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องที่บอกเล่าเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาซึ่งแสดงถึงความเป็นกลุ่มชนเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่นที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง และมีอุปกรณ์ของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจัดแสดง ห้องที่สองเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือเกี่ยวกับการทอผ้า, อุปกรณ์การประมง, อุปกรณ์การเกษตร และห้องที่สามเป็นเรื่องราวของวรรณกรรมสินไซผลงานต่างๆ


4.เหล่าพระเจ้า ซึ่งปัจจุบันเหล่าพระเจ้า เป็นสถานที่ ที่มีการจัดการกันเองในระบบชาวบ้าน เมื่อมีงานประจำปีจะมีการทำความสะอาดและมีคนมากราบไหว้ แต่ยังขาดป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นพับหรือไวนิลที่บอกเล่าเรื่องราว  มีเพียงคนเฒ่าคนแก่ หรือคนในชุมชนเท่านั้น ที่รู้เรื่องราวความสำคัญ


สำหรับพื้นที่ชุมชนสาวะถีแห่งนี้ มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือ  มีพระนักพัฒนา ที่เข้มแข็งเป็นที่ปรึกษาโครงการคือ พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี ท่านเป็นพระที่มีความรู้ ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ ถือเป็นปราชญ์ของชุมชน และเป็นคนบ้านสาวะถีโดยกำเนิด ซึ่งท่านได้พัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชุมชนจนเป็นที่ประจักษ์ ทำให้คนในชุมชนเคารพนับถือ เมื่อท่านขอความร่วมมือ หรือประสานงานกับคนในชุมชนเรื่องใดก็ตาม มักจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยส่วนหนึ่งที่คนในชุมชนให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการนี้เพราะทราบว่าท่านพระครูเป็นคณะทำงานหลักของโครงการ


            นอกจากนั้นยังมี  ความร่วมมือจากทั้งภายในและภายนอก จากการสังเกตการณ์ทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ติดตามที่บ้านสาวะถี เราจะได้เห็นคนในชุมชนที่มีบทบาทต่างกัน มารวมตัวกันอย่างครึกครื้น ทั้งคุณครูโรงเรียนในพื้นที่, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้นำชุมชน, ปราชญ์ชาวบ้าน, ผู้สูงอายุและเด็กและเยาวชนที่เป็นคนในชุมชน ส่วนนอกชุมชนก็ให้ความร่วมมือด้วยเช่นกันทั้งจากที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น, นักวิชาการ, นักโบราณคดี จากกรมศิลปากร กลุ่มคนเข้าร่วมที่เห็นได้ชัดเจนคือผู้สูงอายุที่มาเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 10 คน ซึ่งโดยปกติแล้วกิจกรรมในชุมชนอื่น ๆ นั้นการที่จะให้ผู้สูงอายุมาเข้าร่วมด้วยถือว่ายากลำบาก ทั้งเรื่องของการเดินทางที่มักจะไม่ค่อยสะดวก และสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงเช่นเดียวกับหนุ่มสาว แต่ที่ชุมชนบ้านสาวะถีนั้นพบว่ามีผู้สูงอายุมาเข้าร่วมกิจกรรมนั้นเป็นบุคคลสำคัญของชุมชน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหลายสมัยที่ชาวบ้านให้ความนับถือ, สมาชิกสภาเทศบาลสาวะถี, หมอพราหมณ์ที่ชาวบ้านเชื่อและศรัทธา, คุณครูเกษียณ, ผู้อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสภาและวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น โดยต่างมาด้วยความเต็มใจและตั้งใจเนื่องจากเห็นความสำคัญของโครงการว่าเป็นโครงการที่ดีที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีบทบาทในการถ่ายทอด และทำให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้




ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]